Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 377 (พ.ศ. 2564) การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 377 (พ.ศ. 2564)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการด าเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการทาง

อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 โสฬส และมาตรา 85/20 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 และมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้

“ผู้ประกอบการ” หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 วรรคสองและวรรคสาม

“ผู้ประกอบการจดทะเบียน” หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

“เอกสารหลักฐาน” หมายความว่า หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบ รายงานหรือหนังสืออื่นใดที่เกี่ยวกับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การดำเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม การอุทธรณ์ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งอยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

หมวด 1

การจัดทำ ส่ง รับ หรือเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน

-----------------------------------

 

ข้อ 2 การติดต่อระหว่างผู้ประกอบการและกรมสรรพากรเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร โดยให้วิธีจัดทำ ส่ง รับ หรือเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน เป็นไปตามที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 3 ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรตามข้อ 2 ต้องมีกระบวนการอย่างน้อยในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) การพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการหรือเจ้าพนักงานสรรพากร

(2) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบอิเล็กทรอนิกส์

(3) กระบวนการที่ทำให้เอกสารหลักฐานอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม โดยสามารถแสดงหรืออ้างอิงเพื่อใช้ในภายหลัง และยังคงความครบถ้วนของข้อความในเอกสารหลักฐานได้

ข้อ 4 การจัดทำเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการหรือกรมสรรพากร ให้กระทำในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 5 การส่งและรับเอกสารหลักฐานระหว่างผู้ประกอบการและกรมสรรพากร ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ามีผลสมบูรณ์เมื่อได้ปรากฏข้อความยืนยันการรับเอกสารหลักฐานเข้าสู่ระบบโดยข้อความดังกล่าวต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน รวมถึงวันและเวลาที่ได้ส่งเอกสารหลักฐานนั้น

การส่งเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการให้แก่กรมสรรพากรตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ประกอบการได้รับรองความถูกต้องและครบถ้วนของข้อความที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานที่ได้ส่งนั้น

ข้อ 6 การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของกรมสรรพากร ต้องใช้วิธีการที่เชื่อถือได้และสามารถเข้าถึงข้อความในเอกสารหลักฐานนั้นในภายหลังโดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

 

หมวด 2

ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

-------------------------------

 

ข้อ 7 ให้ผู้ประกอบการหรือกรมสรรพากรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถอนหรือเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวดนี้แทนการดำเนินการตามส่วน 9 โดยดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์

เอกสารหลักฐานที่ใช้สำหรับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 8 ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับผู้ประกอบการที่มีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่

(ก) วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม สำหรับกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมไว้แล้ว หรือ

(ข) วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ สำหรับกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมขึ้นใหม่ หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมน้อยกว่าที่กำหนดไว้ก่อน

(2) สำหรับผู้ประกอบการที่มีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 ที่ประสงค์จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ก่อนวันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมนั้น

ข้อ 9 ในกรณีที่คำขอและเอกสารหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน และผู้ยื่นคำขอไม่เคยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกอธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กรมสรรพากรประกาศรายชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน และให้ถือว่าผู้ประกอบการนั้นได้แสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/4 แล้ว ให้ผู้ประกอบการที่มีการประกาศรายชื่อตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อ 10 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

(1) การเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในสาระสำคัญ ได้แก่ ชื่อผู้ประกอบการ ที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการประกอบกิจการ และที่อยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่ใช้ในการประกอบกิจการ

(2) การหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสามสิบวัน

(3) การย้ายสถานประกอบการ

(4) การเลิกประกอบกิจการ รวมถึงการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้ประกอบการอื่น และการควบเข้ากันเป็นผู้ประกอบการรายใหม่

(5) รายการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ให้กรมสรรพากรประกาศการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เปลี่ยนแปลงรายการแล้ว

ข้อ 11 ในกรณีที่มีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้โอนกิจการแจ้งการโอนและแจ้งการเลิกประกอบกิจการให้กรมสรรพากรทราบในคราวเดียวกัน

ในกรณีที่ผู้รับโอนกิจการตามวรรคหนึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 8

ข้อ 12 ผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งเป็นนิ ติบุคคลใดประสงค์จะควบเข้ากัน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเลิกประกอบกิจการ และให้ผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งได้ควบเข้ากันยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ควบเข้ากัน

ข้อ 13 ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย ให้ผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายแจ้งให้กรมสรรพากรทราบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็วที่สุดและให้มีผลเป็นการแจ้งเลิกประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียน

ให้ผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายดำเนินการเกี่ยวกับกิจการเท่าที่จำเป็น จนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทของผู้ตายประสงค์ประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายต่อไป ให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎกระทรวงนี้

ข้อ 14 ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้อธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(1) เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ

(2) เมื่ออธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(3) เมื่ออธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อ 15 ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ หรืออธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กรมสรรพากรแจ้งให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนทราบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไป จนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่ออธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กรมสรรพากรแจ้งการขีดชื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนทราบและประกาศรายชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกสั่งขีดชื่อดังกล่าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้ถือว่าผู้ประกอบการดังกล่าวได้คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อ 16 ผู้ประกอบการที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 และกรมสรรพากรประกาศรายชื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ถือว่าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

________________________________________

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งผู้ประกอบการในกรณีดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำ ส่ง รับ และเก็บรักษาเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดที่กรมสรรพากรและผู้ประกอบการดังกล่าวต้องใช้ติดต่อระหว่างกัน และการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลคาเพิ่มของผู้ประกอบการดังกล่าว ให้กระทำได้โดยใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)