Skip to Content

ที่ 19/2533 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเลือกเสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ฯลฯ ตามมาตรา 48(3) แห่งประมวลรัษฎากร

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร

ที่ 19/2533

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเลือกเสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ฯลฯ ตามมาตรา 48(3) แห่งประมวลรัษฎากร


ด้วยกรมสรรพากรได้ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ฯลฯ ซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 50 (2) (ก) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นก็ได้ตามมาตรา 48 (3) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น หากผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น โดยนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นและได้เสียภาษีเงินได้ไว้แล้วภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นใหม่ โดยไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ดังนี้ผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและได้มีคำวินิจฉัยในการประชุมครั้งที่ 24/2533วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ว่า บทบัญญัติมาตรา 48 (3) แห่งประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ฯลฯ มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นก็ได้นั้น ก็โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ดังกล่าว ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ดังกล่าวสูงกว่าจำนวนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ ในกรณีที่ผู้มีเงินได้พิจารณาเห็นว่ามีภาระภาษีที่ต้องเสียสำหรับปีภาษีนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ผู้มีเงินได้ก็มีสิทธินำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นเพื่อขอรับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้นั้นคืนได้ นอกจากนั้นการใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีดังกล่าวก็ไม่มีกฎหมายกำหนดเวลาการใช้สิทธิหรือห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิไว้ และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิดังกล่าวก็เป็นการปฏิบัติทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปผู้มีเงินได้ก็สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมให้ถูกต้อง โดยการชำระภาษีเพิ่มเติมหรือขอภาษีคืนแล้วแต่กรณีได้อยู่แล้ว ดังนั้น กรณีที่ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นโดยนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น อันทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าการไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นนั้น จึงเป็นการกระทำโดยสำคัญผิดเมื่อผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นใหม่โดยไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะพึงได้แต่อย่างใด

คำวินิจฉัยนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับกรณีที่กรมสรรพากรได้วินิจฉัยสั่งการไปแล้ว


สั่ง ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2533

พนัส สิมะเสถียร

ปลัดกระทรวงการคลัง

ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)