ป. 110/2545 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรื
(1) คำว่า “ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ” หมายความว่า ค่าระวาง (Freight) ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) เนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทย หรือเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทย(2) คำว่า “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ส่งของออกนอกประเทศไทยซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Shipper หรือผู้รับของในประเทศไทยซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Consignee หรือ ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ซึ่งในคำสั่งนี้ เรียกว่า Forwarder(3) คำว่า “บริษัทสายการเดินเรือไทย” หมายความว่า บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล(4) คำว่า “บริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 110/2545 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล และผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้แก่ ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล และผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น (1) คำว่า “ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ” หมายความว่า ค่าระวาง (Freight) ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) เนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทย หรือเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทย (2) คำว่า “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ส่งของออกนอกประเทศไทยซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Shipper หรือผู้รับของในประเทศไทยซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Consignee หรือ ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ซึ่งในคำสั่งนี้ เรียกว่า Forwarder (3) คำว่า “บริษัทสายการเดินเรือไทย” หมายความว่า บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (4) คำว่า “บริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ข้อ 2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ (1) กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือไทย โดยบริษัทสายการเดินเรือไทยออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการเดินเรือไทย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการเดินเรือไทย เว้นแต่บริษัทสายการเดินเรือไทยเป็นบริษัทสายการเดินเรือที่เข้าลักษณะตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (2) กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศนั้นจะมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม โดยบริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศ โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศ ข้อ 3 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ซึ่งเรียกว่า Forwarder ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ (1) กรณี Forwarder ได้ออกใบตราส่งสินค้า (เฮ้าส์บิลออฟเลดิง) และออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper หรือ Forwarder รายอื่น) ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จาก Forwarder โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (เฮาส์บิลออฟเลดิง) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ Forwarder (2) กรณีบริษัทสายการเดินเรือได้ออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) ให้แก่ Forwarder ในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) แต่ออกใบเสร็จรับเงินในนามของ Forwarder ถือว่า Forwarder จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือ Forwarder จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการเดินเรือตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และ Forwarder มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่บริษัทสายการเดินเรือในนามของตนเอง กรณี Forwarder ตามวรรคหนึ่ง เรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยจากผู้ใช้บริการ (Shipper) โดยใช้ใบตราส่ง สินค้า (บิลออฟเลดิง) ของบริษัทสายการเดินเรือ และ Forwarder ได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) ถือว่าผู้ใช้บริการ (Shipper) จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ Forwarder ดังนั้น ผู้ใช้บริการ (Shipper) จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จาก Forwarder โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และผู้ใช้บริการ (Shipper) มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ Forwarder (3) กรณี Forwarder จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือ โดยบริษัทสายการเดินเรือออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) ให้แก่ Forwarder ในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) และบริษัทสายการเดินเรือได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) ด้วย ถือว่า Forwarder กระทำการเป็นตัวแทนของผู้ใช้บริการ (Shipper) ดังนั้น เมื่อ Forwarder ได้จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) Forwarder จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการเดินเรือตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และ Forwarder มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการเดินเรือ โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของตนเอง และระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ใช้บริการ (Shipper) ด้วย ต่อมาเมื่อผู้ใช้บริการ (Shipper) จ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ Forwarder ในภายหลัง ผู้ใช้บริการ (Shipper) ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย Forwarder ตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 เป็นรายฉบับแต่ละรายของผู้ใช้บริการ (Shipper) โดยจะต้องระบุชื่อที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ใช้บริการ (Shipper) ในช่อง “ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย” และระบุชื่อ Forwarder ในช่อง “ผู้จ่ายเงิน” ซึ่งกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) และ Forwarder มีหน้าที่ต้องส่งสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบเสร็จรับเงินจากการยื่นแบบ ภ.ง.ด.53 และสำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 ให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper) ด้วย ข้อ 4 กรณีบริษัทสายการเดินเรือตามข้อ 2 และ Forwarder ตามข้อ 3 ออกเอกสารเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่สามารถระบุค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยไว้ในบิลออฟเลดิง หรือในเฮาส์บิลออฟเลดิง บริษัทสายการเดินเรือ และ Forwarder สามารถออกเอกสารโดยระบุเฉพาะค่าระวาง (Freight) ไว้ในบิลออฟเลดิงหรือเฮาส์บิลออฟเลดิง และระบุค่าธรรมเนียม หรือประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยไว้ในเอกสารใบเรียกเก็บเงิน(อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น Freight Invoice ก็ได้ แต่ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดดังกล่าวต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยระบบคอนเทนเนอร์เท่านั้น เมื่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินตามบิลออฟเลดิงหรือเฮาส์บิลออฟเลดิงและเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ดังกล่าว ถือเป็นการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการเดินเรือ หรือ Forwarder แล้วแต่กรณี โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิงหรือเฮาส์บิลออฟเลดิงและเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยระบบคอนเทนเนอร์ ตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) ค่าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หรือค่าแกะสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (Container Freight Station หรือ CFS) (2) ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order Fee หรือ D/O) (3) ค่าธรรมเนียมใบตราส่งสำหรับการขนส่งสินค้าขาออก (B/L Fee) (4) ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนสถานะตู้คอนเทนเนอร์ (Status Fee) (5) ค่าภาระท่าเรือ คือ ค่าใช้จ่ายในการนำตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือหรือค่าย้ายตู้คอนเทนเนอร์หน้าท่าเรือไปยังลาน (Terminal Handling Charge หรือ THC) (6) ค่าลากตู้ไปเปิดที่โรงงานกรณีการขนส่งสินค้าขาเข้า หรือค่าลากตู้ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานและลากตู้กลับมาที่ท่าเรือกรณีการขนส่งสินค้าขาออก (Container Yard หรือ C/Y) กรณีบริษัทสายการเดินเรือ หรือ Forwarder ตามวรรคหนึ่ง ระบุค่าบริการ หรือเรียกว่า Handling Charge (H/D) ไว้ในเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น Freight Invoice ด้วย นอกเหนือจากรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยระบบคอนเทนเนอร์โดยแยกรายการอย่างชัดเจน เฉพาะค่าบริการ (Handling Charge) ถือเป็นค่าตอบแทนที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้แก่บริษัทสายการเดินเรือ หรือ Forwarder ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ (Handling Charge) นั้น ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 สำหรับรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยระบบคอนเทนเนอร์ที่ระบุไว้ในเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนั้น ถือเป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ข้อ 5 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือ โดยบริษัทสายการเดินเรือออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) ให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper) แต่บริษัทสายการเดินเรือเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในต่างประเทศจากผู้ซื้อในต่างประเทศบริษัทสายการเดินเรือต้องนำรายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทยมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 หรือมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้ใช้บริการ (Shipper) ไม่เป็นผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีบริษัทสายการเดินเรือตามวรรคหนึ่ง ได้ออกใบตราส่งสินค้า (บิล ออฟเลดิง) ให้แก่ Forwarder ในประเทศไทย แต่บริษัทสายการเดินเรือเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยในต่างประเทศ จาก Forwarder ในต่างประเทศ กรณีดังกล่าว Forwarder ในประเทศไทยไม่เป็นผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และกรณี Forwarder ในประเทศไทยออกใบตราส่งสินค้า (เฮาส์บิลออฟเลดิง) ให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper) หากใบตราส่งสินค้า (เฮาส์บิลออฟเลดิง) ดังกล่าว ระบุค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เรียกเก็บในต่างประเทศ ผู้ใช้บริการ (Shipper) ไม่เป็นผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 6 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ (1) กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือไทย โดยบริษัทสายการเดินเรือไทยออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการเดินเรือไทย เว้นแต่บริษัทสายการเดินเรือไทยเป็นบริษัทสายการเดินเรือที่เข้าลักษณะตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (2) กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศ โดยบริษัทสายการเดินเรือต่างประเทศออกใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) และออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ โดยเหตุที่ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ไม่เป็นฐานในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 7 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Forwarder) โดย Forwarder กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของ Forwarder ในต่างประเทศ และ Forwarder ในประเทศไทย ได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ ถือว่าผู้ใช้บริการจ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นฐานในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จาก Forwarder ในประเทศไทย สำหรับค่าบริการ หรือเรียกว่า Handling Charge (H/D) โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 กรณี Forwarder ในประเทศไทยได้กระทำการในฐานะเป็นตัวแทน เรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยของ Forwarder ในต่างประเทศ Forwarder ในประเทศไทยจะต้องมีหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดที่มีเนื้อหาแสดงว่ากระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของ Forwarder ในต่างประเทศ ข้อ 8 ให้นำความในข้อ 4 มาใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล และผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Forwarder) ด้วย สั่ง ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2545 ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร |