Skip to Content

ป. 3/2527 เรื่อง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 3/2527

เรื่อง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน


เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ สำหรับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 ให้ใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้มาในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2527 เป็นต้นไป

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2527 ให้ยังคงหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2509 ต่อไป

ข้อ 2 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้หักได้ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 แต่ถ้าตามวิธีการทางบัญชี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่หักต่ำกว่าอัตราดังกล่าวก็ให้หักเพียงเท่าอัตราตามวิธีการทางบัญชี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่นั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น

ข้อ 3 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นรายวัน เช่น บริษัท ก. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ได้ซื้อรถยนต์บรรทุกไว้ใช้งานของบริษัทฯ 1 คัน ราคา 500,000 บาท ในวันที่ 1 ธันวาคม 2527 ถ้าบริษัทฯ หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินโดยใช้วิธีแบบเส้นตรง (Straight Line Method) จะต้องเฉลี่ยหักตามส่วนของระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาเป็นรายวัน ดังนี้


31/365 x 500,000 x 20/100 = 8,493.15 บาท


ข้อ 4 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ตามตัวอย่างในข้อ 3 ถ้าในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป บริษัทได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจากวันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันที่ 31 มีนาคม เป็นเหตุให้รอบระยะเวลาบัญชีถัดไปไม่เต็ม 12 เดือน คือมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม หรือ 90 วัน การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์บรรทุกในรอบระยะเวลาบัญชีนี้จะต้องเฉลี่ยหักตามส่วนของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดังนี้


90/365 x 500,000 x 20/100 = 24,657.53 บาท


การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายน้อยกว่า 12 เดือนด้วย

ข้อ 5 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนหรือรถยนต์นั่ง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เกิน 500,000 บาท จะนำมาหักไม่ได้

ข้อ 6 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ในกรณีมีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยราคาที่ตีเพิ่มขึ้นนั้น ได้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายใด ๆ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากราคาส่วนที่ตีเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินนั้นตามวิธีการทางบัญชีและอัตราที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่นั้นนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ตีราคาเพิ่มขึ้น

ในกรณีทรัพย์สินที่มีการตรีราคาเพิ่มขึ้นตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่ง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่ตีเพิ่มขึ้นเฉพาะส่วนที่รวมกับมูลค่าต้นทุนเดิมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 500,000 บาท จะนำมาหักไม่ได้

ข้อ 7 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน ให้ถือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายเงินผ่อน และให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อรวมกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่หักไปในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ (ถ้ามี) แล้วจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อ หรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โดยทรัพย์สินดังกล่าวยังคงมีมูลค่าต้นทุนหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเหลืออยู่ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นได้ต่อไป

ข้อ 8 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินแต่ละประเภท จะหักจนหมดมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นไม่ได้ โดยให้คงเหลือมูลค่าของทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 1 บาท เว้นแต่ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่ง ที่มีมูลค่าต้นทุนเกิน 500,000 บาท แต่ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคมจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท ให้คงเหลือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน เท่ากับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เกิน 500,000 บาท

สำหรับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามข้อ 1 วรรคสอง ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป


สั่ง ณ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2527

วิทย์ ตันตยกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)