Skip to Content

หมวด 2 ภาษีเงินได้และการคำนวณกำไรสุทธิ

มาตรา 20 ภายใต้บังคับมาตรา 43 ทวิ บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)

มาตรา 21 ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินได้หลังจากหักต้นทุนตามมาตรา 33 แล้ว

มาตรา 22 การคำนวณกำไรสุทธิ ให้นำเอาจำนวนดังต่อไปนี้มารวมเป็นรายได้

(1) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม

(2) มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย

(3) มูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง

(4) ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน

(5) ยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

ในกรณีการโอนสัมปทานตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ตาม (4) ให้ถือมูลค่าตามบัญชีครั้งสุดท้ายของบริษัทผู้โอนในวันที่โอน

มาตรา 23 รายได้ตามมาตรา 22 ให้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นได้

มาตรา 24 ภายใต้บังคับมาตรา 25 และมาตรา 26 รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร และภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง

(1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน

(2) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต

(3) ค่ารับรอง

(4) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี

(5) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ

(6) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน

(7) ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียม ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)

(8) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)

(9) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้ว สำหรับรายได้ตามมาตรา 22 (4)

(10) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)

มาตรา 25 รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้รวมถึง

(1) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน

รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 26 (1) วรรคสอง และรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 26 (1) วรรคสองด้วย

(2) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หาหรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค

(3) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ

(4) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท

(5) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 (5)

(6) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ

(7) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(8) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

(9) (ยกเลิก)

(ยกเลิกโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)

(10) ดอกเบี้ย

(11) ค่าธรรมเนียมการสงวนพื้นที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(12) ค่าปรับทางอาญา

มาตรา 26 การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) กำไรสุทธิต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี

รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลือกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกัน ก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรก ก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือก ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไปให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน

รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้

(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก

(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใด ๆ ตามสัมปทานก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี

(2) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้ รายจ่ายและกำไรสุทธิของบริษัท ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

(3) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (1) ให้คำนวณตามราคาที่ขายได้จริงซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม แต่ไม่ให้ปรับปรุงราคาเนื่องจากความแตกต่างของค่าขนส่งตามกฎหมายนั้น เว้นแต่กรณีน้ำมันดิบที่ส่งออก ถ้าราคาที่ขายได้จริงต่ำกว่าราคามาตรฐานให้คำนวณตามราคามาตรฐาน

(4) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (2) ให้คำนวณตามราคาตลาดซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมแต่ไม่ให้ปรับปรุงราคาเนื่องจากความแตกต่างของค่าขนส่งตามกฎหมายนั้น

(5) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (3) ให้คำนวณตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมที่เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง

(6) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น

(7) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตราและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

(8) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียม บริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้

(9) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

(9/1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการคำนวณรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายประเภทได้

(เพิ่มโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)

(9/2) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(เพิ่มโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)

(10) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (12) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (7) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(11) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้ หรือจะคำนวณตามราคาทุน หรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่

การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

(12) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)

(13) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)

(14) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561)

(15) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ จะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ

(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท

(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ

(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ

(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ

(16) ในกรณีที่บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจหลายแปลง โดยแปลงสำรวจบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 และบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ให้บริษัทดังกล่าวคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิสำหรับแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินั้น ๆ เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน

การคำนวณรายได้และรายจ่ายสำหรับแปลงสำรวจตามวรรคหนึ่ง ถ้ารายได้และรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

(เพิ่มโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)

มาตรา 27 รายได้เมื่อได้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นออกแล้ว ผลลัพธ์เป็นผลกำไรประจำปีหรือผลขาดทุนประจำปี แล้วแต่กรณี

มาตรา 28 ในกรณีที่มีผลกำไรประจำปี ให้หักลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้

(1) ผลขาดทุนประจำปีของรอบระยะเวลาบัญชีใด ๆ ในสิบรอบระยะเวลาบัญชี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน

ผลขาดทุนประจำปี เมื่อได้นำไปหักลดหย่อนในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้วหากยังมีผลขาดทุนประจำปีคงเหลือเป็นจำนวนเท่าใด ให้นำไปหักลดหย่อนในรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปได้เพียงเท่าจำนวนที่เหลือนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบรอบระยะเวลาบัญชี

(2) เงินบริจาครวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของผลกำไรประจำปีหลังจากหักลดหย่อนตาม (1) แล้ว ทั้งนี้ เฉพาะเงินบริจาคดังต่อไปนี้

(ก) เงินที่บริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ

(ข) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 29 ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ให้บริษัทผู้รับโอนถือเอาผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอนเพื่อประโยชน์ในการหักลดหย่อนตามมาตรา 28 (1) นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนเป็นต้นไปได้เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)

มาตรา 30 ผลกำไรประจำปีเมื่อได้หักลดหย่อนตามมาตรา 28 ออกแล้ว เหลือเท่าใดเป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 20

มาตรา 31 (ยกเลิก)

(ยกเลิกโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)

มาตรา 32 ในกรณีที่บริษัทผู้ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานขายน้ำมันดิบให้แก่บริษัทผู้ซื้อเพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร ถ้าบริษัทผู้ซื้อต้องเสียภาษีตามมาตรา 20 เป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทผู้ขายนำภาษีจำนวนนั้นมาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่บริษัทผู้ขายต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่บริษัทผู้ขายต้องเสีย

ในกรณีที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบในราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานและขายไปในราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน เครดิตที่บริษัทผู้ขายจะหักตามวรรคหนึ่งต้องไม่เกินส่วนของจำนวนภาษีที่บริษัทผู้ซื้อเสียสำหรับผลต่างระหว่างราคามาตรฐานกับราคาที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบ

ในกรณีที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบในราคามาตรฐานหรือราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน ไม่ให้หักเครดิตตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 33 การหักต้นทุนจากเงินได้ตามมาตรา 21 ให้หักได้เพียงเท่าผลขาดทุนประจำปีคงเหลือตามมาตรา 28 (1) ของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)