Skip to Content

พิธีสาร

ในการลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้(ต่อไปนี้จะเรียกว่า "อนุสัญญา") ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้ตกลงกันตามบทบัญญัติต่อไปนี้ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญานี้

1. ตามวรรค 7 ของข้อ 5 ของอนุสัญญานี้ คำว่า "นายหน้า ตัวแทน นายหน้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระ" เป็นที่เข้าใจว่า ไม่รวมถึงบุคคลตามที่กำหนดไว้ในอนุวรรค (ก) (ข) หรือ (ค) ของวรรค 6 ของข้อดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเช่นว่านั้นในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อหรือในนามวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือเพื่อหรือในนามวิสาหกิจเช่นว่านั้น และวิสาหกิจอื่นซึ่งถูกควบคุมโดยหรือมีการควบคุมผลประโยชน์ในวิสาหกิจเช่นว่านั้น

2. ตามวรรค 3 ของข้อ 7 ของอนุสัญญานี้ จะไม่ยอมให้มีการหักในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนที่ได้จ่ายหรือถูกเรียกเก็บ (นอกเหนือจากการจ่ายชดใช้คืนของค่าใช้จ่ายที่แท้จริง) โดยสถานประกอบการถาวรของวิสาหกิจหนึ่งให้แก่สำนักงานใหญ่ของวิสาหกิจหรือสำนักงานอื่นใดของวิสาหกิจนั้นในรูปของ

(ก) ค่าสิทธิ ค่าธรรมเนียม หรือการชำระอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันในการ ตอบแทน สำหรับการใช้สิทธิบัตรหรือสิทธิอื่นๆ

(ข) ค่านายหน้าสำหรับการบริการเฉพาะเจาะจงที่ได้กระทำหรือเพื่อการ จัดการ และ

(ค) ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมแก่สถานประกอบการถาวร เว้นแต่ในกรณีที่ วิสาหกิจนั้น เป็นสถาบันการธนาคาร

3. ตามวรรค 2 วรรค 3 และวรรค 4 ของข้อ 7 ของอนุสัญญาในกรณีของผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นผู้ซึ่งมิได้อ้างหลักเกณฑ์การเสียภาษีอากรในประเทศไทยจากกำไรสุทธิที่แท้จริงของสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ไม่มีกรณีใดในวรรคที่กล่าวไว้แล้วจะตัดหนทางของประเทศไทยในอันที่จะกำหนดกำไรที่พึ่งถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรจากมูลฐานของอัตราร้อยละ ซึ่งเหมาะสมแน่นอนของยอดรายรับทั้งสิ้นของสถานประกอบการถาวรโดยมีเงื่อนไขว่าจะมีผลตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในข้อที่กล่าวไว้แล้ว

4. ตามวรรค 3 (ข) ของข้อ 10 ของอนุสัญญานี้ คำว่า "กิจการอุตสาหกรรม" ให้หมายถึงกิจการใดๆ ที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรมด้วย

5. ไม่มีกรณีใดในอนุสัญญานี้จะแปลความเป็นการตัดหนทางมิให้ประเทศไทยตั้งบังคับจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทย โดยสถานประกอบการถาวรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

6. ตามข้อ 16 ของอนุสัญญาเป็นที่เข้าใจว่าเงินได้ที่ได้รับในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจากบทบัญญัติแห่งกิจกรรมที่กล่าวถึงในวรรค 1 ของข้อดังกล่าว โดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง อาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรกในวิธีเดียวกันตามที่กำหนดไว้โดยวรรค 2 ของข้อดังกล่าว

7. ตามวรรค 4 (ก) ของข้อ 21 ของอนุสัญญานี้เป็นที่เข้าใจว่ามาตราใดๆ ที่ได้ระบุไว้ในอนุวรรค (1) ของวรรคดังกล่าวซึ่งได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงภายหลังจากวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้จะอยู่ภายใต้บทบัญญัติของอนุวรรคดังกล่าว และบทบัญญัติของอนุวรรค (2) ของวรรคดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับแก่มาตราที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้นตราบเท่าที่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้กระทำเพียงขนาดที่ขอบเขตแห่งสิทธิประโยชน์ตามมาตราดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับอยู่ในวันที่ลงนามในอนุสัญญานี้ไม่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง

8. แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 2 ของข้อ 26 ของอนุสัญญานี้ บทบัญญัติของวรรค 4 (ก) (1) ของข้อ 21 จะใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้สำหรับปีภาษีใดๆ ที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2531

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องเพื่อการนี้ด้วยอำนาจแห่งรัฐบาลทั้งสองทำคู่กันเป็นสองฉบับ ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 7 เมษายน พุทธศักราช 2533 เป็นภาษาอังกฤษ

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)