Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 138 (พ.ศ. 2518) สวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจ

(9) เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดารหรือเงินยังชีพที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้"

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 138 (พ.ศ. 2518)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (8) และ (9) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 137 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

"(8) เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่าที่มีเงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความเป็นจริง หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้

(9) เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดารหรือเงินยังชีพที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้"

ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินของบุคคลธรรมดาประจำ พ.ศ. 2517 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2518 เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518

บุญชู โรจนเสถียร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เพื่อบรรเทาภาระภาษีเงินได้เก็บจากบุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินได้ที่มีลักษณะเป็นค่าตอบแทนและสวัสดิการที่รัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายให้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)