Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 279 (พ.ศ. 2554) เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 279 (พ.ศ. 2554)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสามของ (61) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

“หากเบี้ยประกันภัยที่จ่ายตามวรรคหนึ่ง เป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ให้เงินได้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นอีก ในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับกรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม (35) หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตาม (43) หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนตาม (54) แล้วแต่กรณีหรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตาม (55) แล้ว ต้องไม่เกินห้าแสนบาท ในปีภาษีเดียวกัน การได้รับยกเว้นตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด”

ให้ไว้ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้มีเงินได้ทำสัญญาประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อเพิ่มทางเลือกในการออม และการสะสมเงินออมอันเป็นการเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงเมื่อเกษียณอายุ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรณีที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอนที่ 11 ก วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)