Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 339 (พ.ศ. 2561) เงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม

(ก) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์(ข) ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2546 และต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2547เป็นต้นไป

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 339 (พ.ศ. 2561)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (38) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(38) ดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ ดังต่อไปนี้

(ก) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์

(ข) ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2546 และต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2547เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินดังกล่าวเป็นจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดปีภาษี และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (69) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(69) ดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรือผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศและมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(ก) ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป

(ข) เฉพาะกรณีการฝากเงินที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

(ค) ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ เมื่อรวมดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินดังกล่าวกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์แล้วต้องไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้นและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”

ให้ไว้ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันการก าหนดให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ และดอกเบี้ยเงินฝากเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังไม่ครอบคลุมถึงผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์และผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ สมควรกำหนดให้ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามทั้งสองหลักการเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้ผู้ฝากเงินตามหลักการดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับการฝากเงินทั่วไป และเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)