ป. 106/2544 เรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการของผู้ประกอบกิจการท่าเรือ และผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันก
ค่าบริการของกิจการท่าเรือ หมายความว่า ค่าภาระ ค่าบริการ ค่าเช่า ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ในการใช้บริการในท่าเรือและบริเวณที่ต่อเนื่องกับท่าเรือที่ผู้ประกอบกิจการท่าเรือเรียกเก็บจากเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 106/2544 เรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการของผู้ประกอบกิจการท่าเรือ และผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือ เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบ และแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการของผู้ประกอบกิจการท่าเรือ และผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือ กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น (1) การให้บริการของกิจการท่าเรือ หมายความว่า การจัดอำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือ การรับเรือเข้าเทียบท่าหรือหลักผูกเรือหรือทุ่นผูกเรือ การเก็บรักษาสินค้า การขนถ่ายสินค้าทั้งที่บรรจุตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุตู้สินค้า สินค้าที่บรรจุหีบห่อหรือไม่ได้บรรจุหีบห่อสิ่งของ คนโดยสาร สัตว์มีชีวิต ภาชนะขนส่ง ขึ้นหรือลงเรือ การจัดการทางการค้าและการจัดการอื่น ๆ ทั้งในท่าเรือ และบริเวณที่ต่อเนื่องกับท่าเรือให้แก่เจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ ค่าบริการของกิจการท่าเรือ หมายความว่า ค่าภาระ ค่าบริการ ค่าเช่า ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ในการใช้บริการในท่าเรือและบริเวณที่ต่อเนื่องกับท่าเรือที่ผู้ประกอบกิจการท่าเรือเรียกเก็บจากเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ (2) กิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ หมายความว่า (ก) การให้บริการยกขนหรือเคลื่อนย้ายสินค้า ตู้สินค้า สิ่งของหรืออื่น ๆ โดยใช้เครื่องจักร รถเครน รถเทรลเลอร์ ฯลฯ (ข) การให้บริการขนถ่ายสินค้า โดยใช้แรงงานคน (Stevedore) (ค) การให้บริการใช้เรือลากหรือจูงหรือดันเรือให้เข้าเทียบท่าหรือออกจากท่า (ง) การให้บริการตรวจนับจำนวนสินค้าหรือตู้สินค้า (จ) การให้บริการทำความสะอาดตู้สินค้า (ฉ) การให้เช่าสังหาริมทรัพย์สำหรับยกหรือขนสินค้า เช่น ให้เช่าเครื่องจักร รถยก ปั้นจั่น เครื่องมือยกขน ฯลฯ (ช) การให้บริการเก็บรักษาสินค้าในโรงพักสินค้าหรือคลังสินค้า (ซ) การให้บริการเก็บรักษาสินค้าหรือตู้สินค้าในลานกองเก็บสินค้าหรือลานกองตู้สินค้า (ฌ) การให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ หมายความว่า ค่าบริการของกิจการตาม (ก) (ฌ) ที่ผู้ประกอบกิจการท่าเรือเรียกเก็บจากเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ (3) การให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือ หมายความว่า (ก) การให้บริการโรงพักสินค้าเพื่อตรวจของขาเข้าและบรรจุของขาออกที่ส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือของรัฐและของเอกชน (รพท.) (Inland Container Depot หรือ ICD) (ข) การให้บริการสถานีตรวจและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์เพื่อการ ส่งออก (สตส.) (Off Dock CFS) ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้ทำได้เฉพาะสินค้าขาออก (ค) การให้บริการสถานที่บริการรับฝากตู้สินค้าของรัฐและของเอกชน (Container Depot) ข้อ 2 กรณีผู้ประกอบกิจการท่าเรือให้บริการของกิจการท่าเรือและกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบกิจการท่าเรือมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบกิจการท่าเรือตามวรรคหนึ่ง ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับทั้งที่เป็นค่าบริการของกิจการท่าเรือ และค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าการให้บริการนั้น ผู้ประกอบกิจการท่าเรือจะคิดค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือรวมในหรือแยกค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือออกจากค่าบริการของ กิจการท่าเรือ การให้บริการตามวรรคหนึ่ง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่ผู้ประกอบกิจการท่าเรือได้ออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 3 มูลค่าของฐานภาษีที่ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 2 ประกอบด้วย (1) ค่าภาระ ได้แก่ - ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ - ค่าภาระการใช้ท่าของสินค้าทั่วไป - ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า - ค่าภาระการใช้ทุ่นผูกเรือ - ค่าภาระยกขนสินค้าขาเข้า - ค่าภาระยกขนสินค้าขาออก - ค่าภาระยกขนตู้สินค้า - ค่าภาระฝากสินค้าขาเข้า - ค่าภาระฝากสินค้าขาออก - ค่าภาระฝากตู้สินค้า - ค่าภาระแรงงานพิเศษ - ค่าภาระทำความสะอาดท่า - ค่าภาระรองาน - ค่าภาระเก็บขยะจากเรือ - ค่าภาระที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (2) ค่าบริการ ได้แก่ - ค่าบริการเรือลากจูง - ค่าบริการบรรจุสินค้าขาออกเข้าตู้สินค้า - ค่าบริการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้สินค้า - ค่าบริการบรรทุกขนถ่ายสินค้าเทกอง - ค่าบริการใช้ปั้นจั่นเพื่อทำการขนถ่ายตู้สินค้า - ค่าบริการไฟฟ้าสำหรับตู้สินค้าห้องเย็น - ค่าบริการโทรศัพท์บนเรือ - ค่าบริการรับขนกระเป๋าเดินทาง - ค่าบริการผ่านท่าสำหรับตู้สินค้า - ค่าบริการผ่านท่าสำหรับรถบรรทุก - ค่าบริการชั่งน้ำหนักสินค้า - ค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (3) ค่าเช่า ได้แก่ - ค่าเช่าปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า - ค่าเช่ารถปั้นจั่นเคลื่อนที่ - ค่าเช่ารถยกตู้สินค้า - ค่าเช่ารถหัวลาก - ค่าเช่ารถพ่วง - ค่าเช่าเรือขุด - ค่าเช่าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (4) ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ได้แก่ - ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารผ่านท่า - ค่าธรรมเนียมการชั่งรถบรรทุกสินค้า - ค่าธรรมเนียมปั้นจั่นลอยน้ำ - ค่าล่วงเวลาการบริการเรือ - ค่าล่วงเวลาการบริการขนถ่ายสินค้าขาเข้า - ค่าล่วงเวลาขาออก - ค่าควบคุมดูแลป้องกันอัคคีภัย - ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ข้อ 4 กรณีผู้ประกอบกิจการท่าเรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ภายในบริเวณท่าเรือ เช่น ให้เช่าพื้นที่สำนักงาน โรงพักสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 5 ให้นำความในข้อ 1 ถึงข้อ 4 มาใช้บังคับสำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือโดยอนุโลม ข้อ 6 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง แนวปฏิบัติ หรือคำวินิจฉัยใดของกรมสรรพากร ที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก ข้อ 7 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร |