Skip to Content

ป. 125/2546 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ และค่าบริการโทรศัพท์

ข้อ 1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์กับผู้ให้บริการโทรศัพท์ และได้จ่ายค่าธรรมเนียมการขอเลขหมายโทรศัพท์ ค่าลงทะเบียนการใช้บริการโทรศัพท์ ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ ค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 125/2546

เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ และค่าบริการโทรศัพท์


เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ และค่าบริการโทรศัพท์ ตาม ข้อ 6 และข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์กับผู้ให้บริการโทรศัพท์ และได้จ่ายค่าธรรมเนียมการขอเลขหมายโทรศัพท์ ค่าลงทะเบียนการใช้บริการโทรศัพท์ ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ ค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เรียกเก็บค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ตามวรรคหนึ่งเป็นจำนวนไม่เกิน 6 เท่าของค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์รายเดือน เช่น ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์เดือนละ 500 บาท และผู้ให้บริการโทรศัพท์เรียกเก็บค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์เป็นจำนวน 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการคืนค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุด แต่ในการคืนค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวผู้ให้บริการโทรศัพท์อาจนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายก่อนได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ไม่ต้องนำค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์จำนวน 3,000 บาท ไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้จ่ายค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ค่าธรรมเนียมการขอเลขหมายโทรศัพท์ ค่าลงทะเบียนการใช้บริการโทรศัพท์ ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ ค่าประกันเลขหมายโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้บริการโทรศัพท์จึงต้องนำค่าธรรมเนียมการขอเลขหมายโทรศัพท์ ค่าลงทะเบียนการใช้บริการโทรศัพท์ ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ ค่าประกัน เลขหมายโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์กับผู้ให้บริการโทรศัพท์ และได้จ่ายค่าบริการโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

ค่าบริการโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้บริการโทรศัพท์จึงต้องนำค่าบริการโทรศัพท์ หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 3 กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์จัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายซึ่งอาจเป็นสัญญาระยะยาวโดยมีข้อตกลงว่าไม่เรียกเก็บค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามข้อ 1 และเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการโทรศัพท์หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามข้อ 2 ผู้จ่ายเงินซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการโทรศัพท์หรือค่าบริการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามข้อ 2 ทั้งนี้ ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

ข้อ 4 กรณีผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่าอาคารและให้บริการโทรศัพท์ ได้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ระบบโทรศัพท์ธรรมดากับผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ออกใบแจ้งหนี้ในนามของผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็น ผู้ให้เช่าอาคาร หากผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์จ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ ตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อผู้ทำสัญญาใช้ บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคารเป็นผู้รับบริการตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผู้ให้บริการโทรศัพท์ โดยออกหนังสือรับรอง การหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์

กรณีผู้เช่าอาคารเป็นผู้จ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เช่าอาคารตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคารเป็นผู้รับบริการตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร และเพิ่มเติม ข้อความว่า จ่ายค่าบริการโดยผู้เช่าอาคารคือ หรือข้อความที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่ง ผู้เช่าอาคารมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีผู้เช่าอาคารเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้เช่าอาคารมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของผู้เช่าอาคารให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์

ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับในกรณีผู้เช่าอาคารได้ให้บุคคลอื่นเช่าช่วงอาคารและผู้เช่าช่วงอาคารเป็นผู้จ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ด้วย

ข้อ 5 กรณีผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่าอาคารและให้บริการโทรศัพท์ ได้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ระบบโทรศัพท์แบบตู้สาขาระบบต่อเข้าตรงกับผู้ให้บริการโทรศัพท์และผู้ให้บริการโทรศัพท์ออกใบแจ้งหนี้ในนามของผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคาร เมื่อผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์จ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคารเป็นผู้รับบริการตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี ดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผู้ให้บริการโทรศัพท์ โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์

กรณีผู้เช่าอาคารได้ใช้บริการโทรศัพท์ระบบโทรศัพท์แบบตู้สาขาระบบต่อเข้าตรงจากผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคาร ถือว่าผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคารได้ให้บริการโทรศัพท์แก่ผู้เช่าอาคารตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้เช่าอาคารจ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ทำสัญญาใช้บริการ โทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคาร ผู้ให้เช่าอาคารมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เช่าอาคารตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อผู้เช่าอาคารเป็นผู้รับบริการตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้เช่าอาคารมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีผู้เช่าอาคารเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้เช่าอาคารมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผู้ให้เช่าอาคาร โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้เช่าอาคารให้แก่ผู้ให้เช่าอาคาร

ข้อ 6 กรณีผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เป็นผู้ประกอบกิจการผลิตหรือนำเข้าน้ำมันเพื่อขาย ได้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ระบบโทรศัพท์ธรรมดากับผู้ให้บริการโทรศัพท์ ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ออกใบแจ้งหนี้ในนามของผู้ประกอบกิจการผลิตหรือนำเข้าน้ำมัน แต่สถานบริการน้ำมันภายใต้ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ประกอบกิจการดังกล่าวเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์ และจ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่สถานบริการน้ำมันตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อผู้ประกอบกิจการผลิตหรือนำเข้าน้ำมันเป็นผู้รับบริการตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร และเพิ่มเติมข้อความว่า จ่ายค่าบริการโดยสถานบริการน้ำมันคือ หรือข้อความที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งสถานบริการน้ำมันมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีสถานบริการน้ำมันเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น สถานบริการน้ำมันมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผู้ให้บริการโทรศัพท์ โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของสถานบริการน้ำมันให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์

ข้อ 7 กรณีผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่ง และสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ได้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ระบบโทรศัพท์ธรรมดากับผู้ให้บริการโทรศัพท์ ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ออกใบแจ้งหนี้ในนามของผู้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ แต่สถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์และจ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่สถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ ตามมาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุชื่อผู้ทำสัญญาใช้ บริการโทรศัพท์เป็นผู้รับบริการและระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่เป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น สถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผู้ให้บริการโทรศัพท์ โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์

ข้อ 8 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 หรือข้อ 3 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

กรณีการจ่ายค่าบริการผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของ ผู้จ่ายเงินไม่ว่าจะหักจากบัญชีเงินฝากหรือบัญชีบัตรเครดิต ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ให้บริการโทรศัพท์ ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องระบุวัน เดือน หรือปีภาษีที่จ่ายเงินได้เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ให้บริการโทรศัพท์

กรณีมีการจ่ายค่าบริการตามวรรคหนึ่งในแต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายคราว ทำให้ผู้จ่ายเงินไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการลดภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าบริการในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยสามารถออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หนึ่งครั้งต่อเดือน แต่ผู้จ่ายเงินยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ข้อ 9 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบริการตามข้อ 1 และข้อ 2 หรือข้อ 3 ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินไม่ว่าจะหักจากบัญชีเงินฝากหรือบัญชีบัตรเครดิต และผู้จ่ายเงิน มีความประสงค์แต่งตั้งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือ รับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่ง เป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน

ผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามวรรคหนึ่ง สามารถเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการได้ ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ใน ฐานะเป็นตัวแทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน โดยให้ดำเนินการตามข้อ 10

ข้อ 10 กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 9 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิม โดยมีสาระสำคัญว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการแทน ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทน โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้ว ถือว่าหนังสือแจ้ง ดังกล่าวเป็นข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่งตั้งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เป็นตัวแทนแล้ว

กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 9 ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้จ่ายเงินไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าบริการในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นตัวแทนไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และเมื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องระบุ ข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของค่าบริการ โดยมีสาระสำคัญว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ เป็นจำนวนเงิน บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามวรรคสอง สามารถจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่จะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน พ.ศ. . ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ให้บริการโทรศัพท์ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้

(3) ประเภทเงินได้ เช่น ค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์ หรือค่าบริการโทรศัพท์

(4) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นตัวการหลายตัวการ จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หักไว้

(5) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

ข้อ 11 กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 9 ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทน ผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 10 วรรคสามด้วย ซึ่งเอกสารรายละเอียดดังกล่าวถือเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องเขียนข้อความว่า ใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ไว้ในเอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

ผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามวรรคหนึ่ง ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้เอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 10 วรรคสาม เป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531

ข้อ 12 ผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามข้อ 9 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้

ข้อ 13 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก


สั่ง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)