ป. 126/2546 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอา
ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น(1) คำว่า “ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ” หมายความว่า ค่าระวาง (Freight) ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) เนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทย หรือเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 126/2546 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน และผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้แก่ ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน และผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 กรมสรรพากรจึงมี คำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น (1) คำว่า “ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ” หมายความว่า ค่าระวาง (Freight) ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) เนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทย หรือเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทย (2) คำว่า “ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ส่งของออกนอกประเทศไทย ซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Shipper หรือผู้รับของในประเทศไทยซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Consignee หรือผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยานซึ่งในคำสั่งนี้เรียกว่า Forwarder (3) คำว่า “บริษัทสายการบินไทย” หมายความว่า บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (4) คำว่า “บริษัทสายการบินต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ข้อ 2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ (1) กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบินไทย โดยบริษัทสายการบินไทยออกใบตราส่ง สินค้า (แอร์เวย์บิล) และใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินไทย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่า ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการบินไทย (2) กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศ โดยบริษัทสายการบินต่างประเทศออกใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ (ก) กรณีจ่ายให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินต่างประเทศ โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศ (ข) กรณีจ่ายให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย โดยอนุสัญญาดังกล่าว มีข้อกำหนดให้เก็บภาษีได้เฉพาะในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นเท่านั้น ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (ค) กรณีจ่ายให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย โดยอนุสัญญาดังกล่าว มีข้อกำหนดให้เก็บภาษีได้ร้อยละ 1.5 ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินต่างประเทศ โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และ ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการบิน ต่างประเทศ ข้อ 3 กรณีบริษัทสายการบินต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีการแต่งตั้งตัวแทนสายการบินหรือที่เรียกว่า “General Sales Agent (GSA)” เมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ตัวแทนสายการบิน (GSA) โดยตัวแทนสายการบินได้ออกใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) ในนามบริษัทสายการบินต่างประเทศให้แก่ผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ตัวแทนสายการบิน (GSA) โดยระบุชื่อบริษัทสายการบินต่างประเทศ และเมื่อตัวแทนสายการบิน (GSA) นำเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยจำนวนดังกล่าวจ่ายให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศ ตัวแทนสายการบิน (GSA) ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 4 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ซึ่งเรียกว่า Forwarder ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ (1) กรณี Forwarder ได้ออกใบตราส่งสินค้า (เฮ้าส์แอร์เวย์บิล) ให้แก่ ผู้ใช้บริการแต่ละราย (Shipper หรือ Forwarder รายอื่น) ไปก่อน และ Forwarder ได้จ่ายเงินค่า ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบินในนามของ Forwarder เอง โดยไม่สามารถแยกจ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยเป็นแต่ละรายผู้ใช้บริการได้ Forwarder ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการบินในนามของ Forwarder และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในนามของ Forwarder โดยระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรของ Forwarder ในช่อง “ผู้จ่ายเงิน” ซึ่งกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินในนามของ Forwarder กรณี Forwarder ตามวรรคหนึ่งเรียกเก็บเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยจากผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 จาก Forwarder โดยออกหนังสือรับรอง การหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ Forwarder ในนามของผู้ใช้บริการ เว้นแต่ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้แก่ Forwarder นั้นสามารถสอบยันได้กับจำนวนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยที่ Forwarder จ่ายให้แก่บริษัทสายการบิน ซึ่ง Forwarder ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้ว ผู้ใช้บริการไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยที่จ่ายให้แก่ Forwarder การสอบยันค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยตามวรรคสอง ให้ Forwarder ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยระบุข้อความเพิ่มเติมว่า “ค่าขนส่งสินค้าขาออกตามใบเสร็จรับเงินฉบับนี้ Forwarder ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินแล้ว” หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน (2) กรณี Forwarder จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบิน โดยบริษัทสายการบินออกใบตราส่ง สินค้า (แอร์เวย์บิล) ให้แก่ Forwarder ในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) และบริษัทสายการบิน ได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) ด้วย ถือว่า Forwarder กระทำการเป็น ตัวแทนของผู้ใช้บริการ (Shipper) ดังนั้น เมื่อ Forwarder ได้จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบินในนามของผู้ใช้บริการ(Shipper) Forwarder จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบินตาม หลักเกณฑ์ตามข้อ 2 โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และ Forwarder มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัทสายการบิน โดยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของตนเอง และระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ใช้บริการ (Shipper) ด้วย ต่อมาเมื่อผู้ใช้บริการ (Shipper) จ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ Forwarder ในภายหลัง ผู้ใช้บริการ (Shipper) ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย Forwarder ตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับแต่ละรายของผู้ใช้บริการ (Shipper) โดยจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ใช้บริการ (Shipper) ในช่อง “ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย” และระบุชื่อ Forwarder ในช่อง “ผู้จ่ายเงิน” ซึ่งกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ (Shipper) และ Forwarder มีหน้าที่ต้องส่งสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบเสร็จรับเงินจากการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper) ด้วย ข้อ 5 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบิน โดยบริษัทสายการบินออกใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) ให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper) แต่บริษัทสายการบินเรียกเก็บ ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในต่างประเทศจากผู้ซื้อในต่างประเทศ บริษัทสายการบินต้องนำรายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทยมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 หรือมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากผู้ใช้บริการ (Shipper) มิได้เป็นผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีบริษัทสายการบินตามวรรคหนึ่ง ได้ออกใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) ให้แก่ Forwarder ในประเทศไทย แต่บริษัทสายการบินเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยในต่างประเทศจาก Forwarder ในต่างประเทศ กรณีดังกล่าว Forwarder ในประเทศไทยซึ่งมิได้เป็นผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และกรณี Forwarder ในประเทศไทยออกใบตราส่งสินค้า (เฮาส์แอร์เวย์บิล) ให้แก่ผู้ใช้บริการ (Shipper) หากใบตราส่งสินค้า (เฮาส์แอร์เวย์บิล) ดังกล่าว ระบุค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เรียกเก็บในต่างประเทศ ผู้ใช้บริการ (Shipper) ซึ่งมิได้เป็นผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 6 กรณีบริษัทสายการบินตามข้อ 2 ตัวแทนสายการบิน (GSA) ตามข้อ 3หรือ Forwarder ตามข้อ 4 ออกเอกสารเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่สามารถระบุค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใด ที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยไว้ใน แอร์เวย์บิลหรือเฮาส์แอร์เวย์บิล บริษัทสายการบิน ตัวแทนสายการบิน และ Forwarder สามารถออกเอกสารโดยระบุเฉพาะค่าระวาง (Freight) ไว้ในแอร์เวย์บิลหรือเฮาส์แอร์เวย์บิล และระบุค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยไว้ในเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น Freight Invoice ก็ได้ เมื่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินตามแอร์เวย์บิลหรือ เฮาส์แอร์เวย์บิลและเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ดังกล่าว ถือเป็นการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัทสายการบิน ตัวแทนสายการบิน หรือ Forwarder แล้วแต่กรณี โดยคำนวณหักไว้ใน อัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในแอร์เวย์บิลหรือเฮาส์แอร์เวย์บิลและเอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนั้น ข้อ 7 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ (1) กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบินไทย โดยบริษัทสายการบินไทยออกใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และ ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่บริษัทสายการบินไทย (2) กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่บริษัทสายการบินต่างประเทศ โดยบริษัทสายการบินต่างประเทศออกใบตราส่งสินค้า (แอร์เวย์บิล) และออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ โดยเหตุที่ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ไม่เป็นฐานในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 8 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (Forwarder) โดย Forwarder กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของ Forwarder ในต่างประเทศ และ Forwarder ในประเทศไทย ได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ ถือว่าผู้ใช้บริการจ่ายค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นฐานในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณี Forwarder ในประเทศไทยได้กระทำการในฐานะเป็นตัวแทน เรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยของForwarder ในต่างประเทศ Forwarder ในประเทศไทยจะต้องมีหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดที่มี เนื้อหาแสดงว่ากระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของ Forwarder ในต่างประเทศ ข้อ 9 กรณีบริษัทสายการบินตามข้อ 2 ตัวแทนสายการบิน (GSA) ตามข้อ 3หรือ Forwarder ตามข้อ 4 เรียกเก็บค่าบริการหรือเรียกว่า Handling Charge (H/D) นอกเหนือจากค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากผู้ใช้บริการ ซึ่งค่าบริการดังกล่าวอาจระบุไว้ในแอร์เวย์บิล เฮาส์แอร์เวย์บิล เอกสารใบเรียกเก็บเงิน (อินวอยซ์) หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น Freight Invoice ก็ได้ ค่าบริการ (Handling Charge) ถือเป็นค่าตอบแทนที่ผู้ใช้บริการจ่าย ให้แก่บริษัทสายการบิน ตัวแทนสายการบิน (GSA) หรือ Forwarder ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ (Handling Charge) นั้น ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ข้อ 10 ให้นำความในข้อ 6 มาใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยานและผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (Forwarder) ด้วย ข้อ 11 ให้นำความในข้อ 4 ถึงข้อ 10 มาใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินค่าขนส่ง สินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยและการรับขนของเข้ามาในประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบกิจการให้บริการเป็นตัวแทนรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยานซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งด้วย สั่ง ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2546 ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร |