Skip to Content

ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป

ข้อ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และหรือมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูปจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า หรือให้บริการพร้อมกับการชำระราคาค่าบริการ โดยเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งในหนึ่งวันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวสามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการสำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายนั้นก็ได้

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 86/2542

เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป


เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และหรือมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูปจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า หรือให้บริการพร้อมกับการชำระราคาค่าบริการ โดยเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งในหนึ่งวันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวสามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการสำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายนั้นก็ได้

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.155/2560 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)

ข้อ 2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีการกระทำดังต่อไปนี้ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) หรือการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษี

(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ โดยไม่ได้นำสินค้านั้นไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นเพื่อใช้ ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการผลิตสีทาอาคารและกิจการขายบ้านพร้อมที่ดิน บริษัทฯได้นำสีไปใช้ทาบ้านที่ขาย บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสีที่นำไปทาบ้านเพื่อขาย

(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สินค้าที่นำไปใช้เป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตและสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าว ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นเพื่อใช้ ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายรถยนต์นั่ง โอนรถยนต์นั่งที่ซื้อไว้เพื่อขายไปใช้ในการบริหารงานของกิจการโดยนำไปเป็นรถประจำตำแหน่ง บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของรถยนต์นั่งที่นำไปใช้

(ข) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิง ได้นำน้ำมันเชื้อเพลิงไปเติมรถยนต์นั่งที่ใช้ในการบริหารงานของกิจการ บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมในรถยนต์นั่ง

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 8 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189(พ.ศ.2534)ฯลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันเลิกประกอบกิจการ ถือเป็นการขายสินค้าตาม มาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 9 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการขายสินค้าตาม มาตรา 77/1(8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 10 (1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือทั้งกรณีที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการขายสินค้าตาม มาตรา 77/1(8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 10(2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534

(7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆโดยไม่ได้นำบริการและหรือนำสินค้านั้นไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการให้บริการ ตาม มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้นำเครื่องมือ เครื่องใช้ และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ไปใช้ก่อสร้างอาคารเพื่อขาย บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของค่าบริการซึ่งรวมค่าวัสดุก่อสร้างด้วย

(8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำบริการและหรือนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นบริการที่นำไปใช้เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ถือเป็นการให้บริการ ตาม มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์อาหารได้นำผลิตภัณฑ์อาหารไปใช้เลี้ยงรับรองให้แก่ลูกค้าซึ่งมาดูงานของบริษัทฯ บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารที่นำไปเลี้ยงรับรอง

(9) ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำบริการและหรือนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นบริการที่นำไปใช้กับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ถือเป็นการให้บริการ ตาม มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายรถยนต์และรับจ้างซ่อมรถยนต์ ได้ซื้อรถยนต์นั่งมาใช้ในการบริหารงานของกิจการ ถ้าบริษัทฯซ่อมรถยนต์นั่งที่ซื้อมาใช้ในกิจการ บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการซ่อมรถยนต์นั่ง

(10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า โดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าตาม มาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการขายสินค้าตาม มาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตาม มาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด นำอาหารกระป๋องที่ผลิตหรือซื้อมาเพื่อขาย แจกให้แก่พนักงาน เพื่อนำไปบริโภคที่บ้านนอกเวลาปฏิบัติงาน บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของอาหารกระป๋องที่นำไปแจก

(ข) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานพาหนะ บริษัทฯมีข้อบังคับและประกาศจ่ายรางวัลสำหรับพนักงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานติดต่อกันโดยไม่หยุดงาน เช่น ทำงานมา 5 ปี ได้ทองคำหนัก 2 บาท ทำงานมา 4 ปี ได้ทองคำหนัก 1 บาท บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของทองคำที่นำไปแจกเป็นรางวัล

(ค) บริษัท ค.จำกัด ประกอบกิจการผลิตและขายยางรถยนต์บริษัทฯมีเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมการขายว่า หากลูกค้าซื้อสินค้าจากบริษัทฯครบจำนวนตามที่กำหนด บริษัทฯจะมอบรางวัล เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าทุกคน บริษัทฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำไปแจกเป็นรางวัล

(11) ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการตาม มาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการให้บริการตาม มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง โรงแรมเอ.เอ็ม ให้บริการห้องพักแก่กรรมการของโรงแรม และแขกรับเชิญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนอื่น โดยไม่คิดค่าห้องพักและค่าบริการ โรงแรมฯมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของค่าห้องพักและค่าบริการ

(12) ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่มีลักษณะและเงื่อนไขตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี เนื่องจากไม่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ข้อ 3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ มีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แต่โดยผลของกฎหมายทำให้ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรอีก

(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนของตนจัดทำใบกำกับภาษีแทนตนเองตามมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีตัวแทนได้จัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอีก

(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาด โดยส่วนราชการเป็นผู้ทอดตลาดตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนราชการได้จัดทำใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด และจัดทำสำเนาใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีขาย ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอีก

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาด โดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการเป็นผู้ทอดตลาดตาม มาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ทอดตลาดจัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด ตาม มาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอีก

ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตาม มาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี โดยส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อการลงรายงานภาษีขายตาม มาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

ชื่อตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีระบุที่อยู่ไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รายการที่อยู่ที่ระบุไว้ถูกต้อง และสามารถบอกตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนได้ ให้ถือว่าได้ระบุที่อยู่ครบถ้วนแล้ว

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ชื่อตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบุคคลธรรมดา หมายความรวมถึงนามสกุลด้วย

กรณีระบุชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามวรรคหนึ่งไม่ครบถ้วนโดยมีเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ละคำที่ประกอบคำหน้า แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น เช่น “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” เขียนว่า “องค์การโทรศัพท์ฯ” หรือ “บริษัท ไปศาจีกรุงเทพมหานครจำกัด” เขียนว่า “บริษัท ไปศาจีกรุงเทพฯ จำกัด” ให้ถือว่าได้ระบุชื่อครบถ้วนแล้ว

กรณีระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามวรรคหนึ่ง โดยตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ การันต์ ผิดพลาด แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น ให้ถือว่าได้ระบุชื่อครบถ้วนแล้ว

ที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีระบุที่อยู่ไม่ครบถ้วนตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รายการที่อยู่ที่ระบุไว้ถูกต้อง และสามารถบอกตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนได้ ให้ถือว่าได้ระบุที่อยู่ครบถ้วนแล้ว

(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี

(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

ชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุเฉพาะชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องระบุชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีด้วย ให้กระทำได้ โดยต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือแยกรายการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(6) มูลค่าของสินค้าหรือของบริการที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

กรณีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการตามวรรคหนึ่ง มีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนถือปฏิบัติดังนี้

(ก) ถ้าเศษของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่สามหลังจุดทศนิยม มีค่าไม่ถึง 5 ให้ปัดเศษนั้นทิ้ง ตัวอย่าง มูลค่าของสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว คือ 100 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับ 7/107 x 100 = 6.542 บาท ดังนั้น จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงในใบกำกับภาษี คือ 6.54 บาท

(ข) ถ้าเศษของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่สามหลังจุดทศนิยม มีค่าตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ให้ปัดเศษขึ้น ตัวอย่าง มูลค่าของสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว คือ 180 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับ 7/107 x 180 = 11.775 บาท ดังนั้น จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงในใบกำกับภาษี คือ11.78 บาท

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย อันเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเสียภาษีตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย

(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี วัน เดือน ปี ตามวรรคหนึ่ง ใช้ตัวเลขแทนการระบุชื่อเดือนก็ได้และใช้พุทธศักราชหรือคริสต์ศักราชก็ได้

ข้อ 5 กรณีตัวแทนเป็นผู้จัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ และมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องจัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ตัวแทนและผู้ทอดตลาดใช้แบบพิมพ์ใบกำกับภาษีของตัวแทนหรือผู้ทอดตลาด โดยใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวการ หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินด้วย

ข้อ 6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 4 สามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ หรือใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน

การจัดทำใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ถ้าใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า ”อกสารออกเป็นชุด” ในใบกำกับภาษี

ข้อ 7 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 มีความผิด ต้องระวางโทษตาม มาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 8 รายการในใบกำกับภาษีตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 จะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ต้องจัดทำเป็นหน่วยเงินตราไทย โดยใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค กรณีมีความจำเป็นต้องจัดทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ และหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

รายการชื่อตามข้อ 4(2) และข้อ 4(3) กรณีเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัท (มหาชน) จำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้คำย่อแทนได้ ดังนี้

(1) บริษัทจำกัด ใช้คำย่อว่า บ. ... จก. หรือ ใช้คำย่อว่า บจ. ...

(2) บริษัท (มหาชน) จำกัด ใช้คำย่อว่า บมจ. ...

(3) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้คำย่อว่า หจก. ...

(4) ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้คำย่อว่า หสน. ...

ถ้ารายการในใบกำกับภาษีตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ดังต่อไปนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

(3) คำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

ถ้ารายการในใบกำกับภาษีตาม (1) (2) และ (3) ของวรรคสามทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รายการอื่น ๆ ตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 4 จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีจึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ข้อ 9 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายหนึ่งรายใดครั้งหนึ่ง ๆ จำนวนหลายรายการ และไม่สามารถระบุรายการชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมดในใบกำกับภาษี 1 แผ่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำใบกำกับภาษี 1 ฉบับ ประกอบด้วยใบกำกับภาษี 1 แผ่น และจัดให้มีใบแนบใบกำกับภาษีด้วย ซึ่งใบแนบใบกำกับภาษีอาจมีจำนวนมากกว่า 1 แผ่นก็ได้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องหมายเหตุในรายการสินค้าหรือบริการว่ามีรายละเอียดตามใบแนบใบกำกับภาษี โดยมูลค่ารวมของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระบุในใบกำกับภาษี และที่ระบุในใบแนบใบกำกับภาษีต้องเป็นจำนวนเดียวกัน

ใบแนบใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) คำว่า “ใบแนบใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(ข) เลขที่ เล่มที่ (ถ้ามี) ของใบกำกับภาษี

(ค) วัน เดือน ปี ของใบกำกับภาษี

(ง) รายละเอียดชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(จ) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

(ฉ) กรณีมีใบแนบใบกำกับภาษีมากกว่า 1 แผ่น จะต้องระบุคำว่า “แผ่นที่ ...” ไว้ด้วย และรายการมูลค่ารวมของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมด ตาม มาตรา 86/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร จะปรากฏในใบแนบใบกำกับภาษีแผ่นสุดท้ายเท่านั้น

การจัดทำใบแนบใบกำกับภาษีตามวรรคสอง สามารถจัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์ใช้ใบส่งของหรือใบแจ้งหนี้ เป็นใบแนบใบกำกับภาษี ให้กระทำได้ แต่ต้องมีรายการอย่างน้อยตามวรรคสอง

(2) จัดทำใบกำกับภาษี 1 ฉบับ ประกอบด้วยใบกำกับภาษีมากกว่า1 แผ่น โดยแต่ละแผ่นต้องมีรายการถูกต้องครบถ้วนตาม มาตรา 86/4 (1) - (5) และ (7) แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีที่ไม่ใช่แผ่นสุดท้ายจะต้องมีข้อความที่แสดงว่ามีใบกำกับภาษีแผ่นต่อไปไว้ด้วย ซึ่งข้อความดังกล่าวจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้สำหรับรายการมูลค่ารวมของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมดตามมาตรา 86/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร จะปรากฏในใบกำกับภาษีแผ่นสุดท้ายเท่านั้น

การจัดทำใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้ตีพิมพ์เลขที่ไว้แล้วใบกำกับภาษีแต่ละแผ่นจะเรียงลำดับเลขที่ แต่ถ้าไม่ได้ตีพิมพ์เลขที่ไว้ ใบกำกับภาษีแต่ละแผ่นอาจจะเรียงลำดับเลขที่หรือปรากฏเลขที่เพียงเลขที่เดียวก็ได้ กรณีใบกำกับภาษีแต่ละแผ่นมีเพียงเลขที่เดียว ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุคำว่า “แผ่นที่ ...” ไว้ด้วย

ข้อ 10 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย อันเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ถือปฏิบัติดังนี้

(ก) ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

(ข) ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ซึ่งไม่ใช่การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อ จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ข้อ 11 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อหรือที่อยู่ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายและหน่วยงานที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 85/6 แห่งแห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามชื่อหรือที่อยู่ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ได้รับใบกำกับภาษีในชื่อเดิมหรือที่อยู่เดิม ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อ จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ข้อ 12 กรณีราชการเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถแก้ไขที่อยู่ในแบบพิมพ์ใบกำกับภาษีให้ถูกต้องตามที่ทางราชการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทางราชการประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่ แล้วแต่กรณี

การแก้ไขที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถขีดฆ่าที่อยู่เดิมและระบุที่อยู่ใหม่ที่ถูกต้อง พร้อมกับลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข หรือประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีราชการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ตาม มาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 13 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีการแถมสินค้าพร้อมการขายหรือการให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุชนิด ประเภท และปริมาณสินค้าที่แถมไว้ในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันกับสินค้าที่ขายด้วย แต่ไม่ต้องนำมูลค่าสินค้าที่แถมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี

การแถมสินค้าตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจจะไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่แถมให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการพร้อมกับการส่งมอบสินค้าหรือให้บริการก็ได้ต่อมาเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่แถมก็ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการอีก

ข้อ 14 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีการให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อน ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษี ดังนี้

(1) กรณีให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ให้เห็นชัดแจ้งในใบกำกับภาษี และคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการหลังจากหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนแล้ว

ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด ขายรถยนต์กระบะมูลค่า 350,000 บาทได้ให้ส่วนลดแก่ผู้ที่ซื้อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2542 จำนวน 5,000 บาท บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่ารถยนต์กระบะ 350,000 บาท หักด้วยส่วนลด 5,000 บาท คงเหลือมูลค่ารถยนต์กระบะ 345,000 บาท

(ข) นายอำนาจซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้ามูลค่า 5,000 บาทห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 5,000 บาท ห้างฯได้แจกคูปองมูลค่า 250 บาท เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าครั้งต่อไปโดยไม่จำกัดประเภทสินค้า ถ้าสินค้าชิ้นใหม่มูลค่า 1,000 บาท ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 1,000 บาท หักด้วยมูลค่าส่วนลดตามคูปอง 250 บาท คงเหลือมูลค่าของสินค้า 750 บาท

(ค) ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท จะได้รับแสตมป์ 1 ดวง ถ้าสะสมแสตมป์ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีสิทธินำแสตมป์ดังกล่าวใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามประเภทที่กำหนดได้ เช่น แสตมป์ 50 ดวง มีสิทธิซื้อพัดลมมูลค่า 1,000 บาท โดยชำระเงิน 700 บาท กรณีดังกล่าว ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของสินค้า 1,000 บาท หักด้วยมูลค่าส่วนลดตามแสตมป์ 50 ดวง มูลค่า 300 บาท คงเหลือมูลค่าของสินค้า 700 บาท

(ง) โรงแรม เอ.เอ็ม ประกอบกิจการโรงแรมและภัตตาคารเมื่อลูกค้าใช้บริการห้องพักและอาหารมูลค่า 15,000 บาท โรงแรมฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของบริการ 15,000 บาท โรงแรมฯมอบบัตรกำนัลให้จำนวน 1,000 บาท ต่อมาลูกค้าใช้บริการภัตตาคาร 3,000 บาท ชำระเงินสด 2,000 บาท และบัตรกำนัล 1,000 บาท โรงแรมฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยแสดงมูลค่าของบริการ 3,000 บาทหักด้วยมูลค่าตามบัตรกำนัล 1,000 บาท คงเหลือมูลค่าของบริการ 2,000 บาท

(2) กรณีให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสดหรือส่วนลดตามเป้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าทั้งหมดไม่หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อน

ตัวอย่าง

(ก) บริษัท ก.จำกัด ขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งมูลค่า 350,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระค่าสินค้าว่า ถ้าชำระภายใน 2เดือน จะลดให้ 2,000 บาท บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณจากมูลค่า 350,000 บาท

(ข) ห้างสรรพสินค้าขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท ผู้ซื้อจะได้รับแสตมป์ 1 ดวง ถ้าสะสมแสตมป์ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีสิทธินำแสตมป์มารับของรางวัลจากห้างฯตามประเภทที่กำหนด เช่น แสตมป์ 20 ดวง มีสิทธิได้รับชามแก้วมูลค่า 400 บาท ห้างฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยคำนวณจากมูลค่า 400 บาท

อย่างไรก็ดี ถ้าการให้ส่วนลดตามเป้ามีเงื่อนไขว่า จะแจกสินค้าเป็นรางวัลให้แก่ผู้ซื้อสินค้า เฉพาะกรณีซื้อสินค้าในแต่ละวันโดยมีมูลค่ารวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าที่แจกเป็นรางวัล ทั้งนี้ ตาม มาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่าง ถ้าซื้อสินค้ามูลค่า 2,000 บาท ในแต่ละวัน ผู้ซื้อมีสิทธิได้รับตะกร้า 1 ใบ ห้างฯไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของตะกร้าดังกล่าว

ข้อ 15 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีการดำเนินงาน ณ สถานที่อื่นซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตาม มาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกต้อง แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ หรือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งอื่นซึ่งจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการ

ตัวอย่าง

(1) บริษัท ก.จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตพญาไท ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่เขตบางพลัด บริษัทฯไม่ได้ใช้พื้นที่ของอาคารที่ให้เช่าเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ณ อาคารที่ให้เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้ เมื่อบริษัทฯเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่า บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่

(2) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตปลากระป๋อง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตบางซื่อ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง บริษัทฯก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานที่จังหวัดระยองดำเนินงานด้านการก่อสร้างและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา ณ สถานที่ก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้าง บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานที่จังหวัดระยองได้

(3) บริษัท ก.จำกัด เช่าสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าซึ่งต้องมีกระแสไฟฟ้าส่องป้าย บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ณ สถานที่เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้

ข้อ 16 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 15 ได้แจ้งปิดสถานประกอบ-การบางแห่งตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานประกอบการที่แจ้งปิดแล้ว

หากภายหลังการแจ้งปิดสถานประกอบการตามวรรคหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องจัดทำใบเพิ่มหนี้ตาม มาตรา 82/9 หรือใบลดหนี้ตาม มาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ของสถานประกอบการแห่งนั้น ให้จัดทำใบเพิ่มหนี้ตาม มาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตาม มาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งหรือใบเพิ่มหนี้ตามวรรคสอง มีสิทธินำใบกำกับภาษีและใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรณีได้รับใบลดหนี้ตามวรรคสอง มีสิทธินำใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ข้อ 17 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 16 ยังคงได้รับใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่แจ้งปิดไปแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

(1) กรณีใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการแจ้งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน

(2) กรณีใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแจ้งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบ-การจดทะเบียนไม่มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อ 18 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ และสถานประกอบการที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น สถานประกอบการที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ต้องระบุข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ ...” ไว้ในใบกำกับภาษีด้วย โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

ข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ ...” ตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถระบุชื่อของสถานที่ก็ได้ เช่น สาขาลาดพร้าว สาขาลพบุรี

ตัวอย่าง

(1) ระบุว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ สาขาลาดพร้าว” หรือ “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ สาขาที่ 1” หรือ “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ สาขาถนนพระราม 4” หรือ

(2) ระบุว่า “สาขาลาดพร้าว” หรือ “สาขาที่ 1” หรือ “สาขาถนนพระราม 4”

ข้อ 19 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ และจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ แต่สถานประกอบการแห่งอื่นเป็นผู้สั่งพิมพ์ใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการถือว่าสำนักงานใหญ่เป็นผู้จัดทำใบกำกับภาษี ไม่ใช่การจัดทำใบกำกับภาษีตามข้อ 18 จึงไม่ต้องระบุข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ ...” ไว้ในใบกำกับภาษี

ข้อ 20 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้นำเข้า ตาม มาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ทั้งนี้ ตาม มาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร ถือเป็นใบกำกับภาษีตาม มาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ารายการในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อน และกรมศุลกากรได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินตามวรรคหนึ่งมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยมหรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียน และชื่อของผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศด้วย ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศให้จัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบเสร็จรับเงินไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อ 21 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสีย ตาม มาตรา 83/6(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ถือเป็นใบกำกับภาษีตาม มาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ารายการในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อน และกรมสรรพากรได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ข้อ 22 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตาม มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาโดยส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อการลงรายงานภาษีขายตาม มาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ใบกำกับภาษีของการขายสินค้าโดยการส่งออกตาม มาตรา 86/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้มีรายการเช่นเดียวกันกับใบกำกับสินค้าซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) ใบกำกับภาษีของการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตาม มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้มีรายการเช่นเดียวกันกับใบแจ้งหนี้หรืออินวอยซ์ซึ่งผู้ให้บริการได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

(3) ใบกำกับภาษีของการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ตามมาตรา 86/5(1) ให้มีรายการเช่นเดียวกับแอร์เวย์บิลหรือเฮ้าส์แอร์เวย์บิลที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนรับขนส่งได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องมีรายการครบถ้วนตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

(4) ใบกำกับภาษีของการขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันตาม มาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีรายการอย่างน้อยตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้ระบุชื่อ ชนิด และประเภทของน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นภาษาอังกฤษได้และต้องกำหนดช่องราคาขายปลีกไว้ในใบกำกับภาษีด้วย

(5) ใบกำกับภาษีของการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามมาตรา 86/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีรายการอย่างน้อยตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้ระบุชื่อ ชนิด และประเภทของยาสูบเป็นภาษาอังกฤษได้ และต้องกำหนดช่องราคาขายปลีกหักด้วยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคำนวณตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีกไว้ในใบกำกับภาษีด้วย

ข้อ 23 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 22 ต้องระวางโทษตาม มาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 24 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตาม มาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งไปถือเป็นภาษีซื้อแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้ตรวจสอบภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าต่อมาผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องก็ยังคงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตาม มาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขอคืนภาษีเป็นเงินสด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ได้มีการจัดทำใบกำกับภาษี

กำหนดระยะเวลาตามวรรคสองต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการกระทำความผิด

ข้อ 25 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า ”ยกเลิก” หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ...” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย

ข้อ 26 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 25 จัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยดำเนินการตามข้อ 8 วรรคสามและวรรคสี่ ดังนี้

(1) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการดังต่อไปนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

(ก) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

(ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

(ค) คำว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการตาม (1)(ก)(ข) และ(ค) ทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น

ข้อ 27 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก


สั่ง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

จักรี รัตยันตรกร

รองอธิบดี รักษาราชการแทน

อธิบดีกรมสรรพากร

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)