Skip to Content

ป. 97/2543 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 97/2543

เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร


เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนกรณีการส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก

(1) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.33/2536 เรื่อง การส่งออกสินค้าซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ลงวันที่ 24มิถุนายน พ.ศ.2536 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.70/241 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2541

(2) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.41/2537 เรื่อง การส่งออกน้ำตาลทรายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537

ข้อ 2 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศและผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตสินค้า หรือซื้อสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ ตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

โรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ผลิตสินค้าดังกล่าวหรือซื้อสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ และโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศได้จัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

(3) หลักฐานการส่งออกสินค้าในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเช่น ใบกำกับสินค้า (Invoice) ใบตราส่ง (Bill of Lading) หรือ Airway Bill

(4) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า(Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เป็นต้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(ก) กรณีผู้ซื้อในต่างประเทศมอบหมายให้ตัวแทน ผู้ทำการแทน หรือสำนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นผู้ชำระราคาค่าสินค้าแทน ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ก็ได้

(ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยไม่มีค่าตอบแทน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice)

(5) หลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ได้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย ตามมาตรา77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ผลิตสินค้าดังกล่าวหรือซื้อสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ และโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศได้จัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) หลักฐานใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน

(3) หลักฐานการบรรจุหีบห่อ (Packing List) เว้นแต่สินค้าทีไม่จำต้องบรรจุหีบห่อ เช่น ไม้ เสาเข็ม เป็นต้น ก็ไม่จำต้องมี Packing List เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมิน

(4) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า(Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เป็นต้น กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่สามารถแสดงหลักฐานดังกล่าว แต่ได้บันทึกรายการส่งออกสินค้าในรายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ บัญชีเงินสดรับหรือบัญชีขาย ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหลักฐานที่แสดงว่ารับชำระราคาค่าสินค้าหรือมีหลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน

(5) หลักฐานใบกำกับภาษีซื้อ และรายงานภาษีซื้อ

(6) หลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร

ข้อ 3 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศและผู้ประกอบการจดทะเบียนซื้อสินค้าดังกล่าวจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ โดยให้โรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ เพื่อส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ ตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นผู้ส่งออกตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนซื้อสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ และโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศได้จัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ เป็นการขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร โรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน แต่ต้องจัดทำใบส่งของให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร

(3) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เป็นต้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(ก) กรณีผู้ซื้อในต่างประเทศมอบหมายให้ตัวแทน ผู้ทำการแทน หรือสำนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นผู้ชำระราคาค่าสินค้าแทน ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ก็ได้

(ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยไม่มีค่าตอบแทน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice)

(4) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม (3) อาจไม่ตรงกับใบกำกับสินค้า (Invoice) ก็ได้ หากปรากฏว่าผู้ซื้อในต่างประเทศได้แยกหลักฐานการชำระราคาค่าสินค้าในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนและโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศออกจากกัน

(5) หลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในนามของโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศ ซึ่งส่งออกสินค้าประเภท ชนิด และจำนวนเท่ากับสินค้าตามหลักฐานตาม (1)

ข้อ 4 เว้นแต่กรณีตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และผู้ประกอบการจดทะเบียนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหรือซื้อสินค้าดังกล่าวจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศเพื่อส่งออก แต่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศตามคำสั่งซื้อของผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยที่สินค้าดังกล่าวไม่ได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อในต่างประเทศตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศตามคำสั่งซื้อของผู้ซื้อในต่างประเทศ ถือว่าผู้ซื้อในต่างประเทศขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศ เมื่อลูกค้าในประเทศจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ลูกค้าในประเทศมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ซื้อในต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษี ตามมาตรา83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 5 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศแต่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งมอบสินค้าให้แก่ตัวแทนของผู้ซื้อซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อในต่างประเทศตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศไม่พร้อมที่จะรับมอบสินค้าและแต่งตั้งให้ตัวแทนของผู้ซื้อเป็นผู้จัดหาสถานที่เก็บรักษาสินค้าเป็นการชั่วคราว

(3) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาออกต่อกรมศุลกากรเพื่อส่งออกสินค้าที่เก็บรักษาไว้ที่ตัวแทน โดยที่สินค้าดังกล่าวเป็นประเภท ชนิด และจำนวนเท่ากับสินค้าที่ได้บันทึกออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบของผู้ประกอบการจดทะเบียน

(4) ระยะเวลาที่ตัวแทนของผู้ซื้อในต่างประเทศได้รับมอบสินค้าที่ต้องเก็บรักษาไว้แทนผู้ซื้อในต่างประเทศ จะต้องห่างจากระยะเวลาที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนดำเนินการยื่นใบขนสินค้าขาออกต่อกรมศุลกากร ไม่เกิน 180 วัน

(5) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ส่งออกสินค้าที่เก็บรักษาไว้ที่ตัวแทนไปให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศตามสถานที่ที่ผู้ซื้อกำหนดเท่านั้น และต้องไม่ปรากฎว่าได้มีการขายสินค้าดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้ออื่นใดอีกไม่ว่าภายในประเทศหรือต่างประเทศ

(6) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เป็นต้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(ก) กรณีผู้ซื้อในต่างประเทศมอบหมายให้ตัวแทน ผู้ทำการแทน หรือสำนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นผู้ชำระราคาค่าสินค้าแทน ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ก็ได้

(ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยไม่มีค่าตอบแทน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice)

ข้อ 6 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในเขตอุตสาหกรรมส่งออกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า(Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือเอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement เป็นต้น

(3) หลักฐานสำเนาคำร้องขอนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนดในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรรับรองแล้ว หรือสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงิน สำหรับกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขอใช้สิทธิรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรหรือขอคืนอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุอัตราภาษีร้อยละ 0

ข้อ 7 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการขายสินค้าระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับคลังสินค้าทัณฑ์บน ระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือระหว่างผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกไม่ว่าจะอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเดียวกันหรือไม่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนในคลังสินค้าทัณฑ์บนกับคลังสินค้าทัณฑ์บน ระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือระหว่างผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกไม่ว่าจะอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเดียวกันหรือไม่ เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า(Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือเอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement เป็นต้น

(3) หลักฐานสำเนาหนังสือขออนุญาตต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือสำเนาใบขนคลังสินค้าทัณฑ์บนตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนดซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรรับรองแล้ว หรือสำเนาคำร้องขอนำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรรับรอง แล้ว หรือสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า

ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วแต่กรณี เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยระบุอัตราภาษีร้อยละ 0

ข้อ 8 กรณีการส่งออกสินค้าที่มีการโอนส่วนจัดสรรหรือแลกเปลี่ยนส่วนจัดสรรตามหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้โอนและผู้รับโอน หรือผู้แลกเปลี่ยนและผู้ให้แลกเปลี่ยนเป็นผู้ส่งออกรับอนุญาตที่จดทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ และได้รับสิทธิจัดสรรโควต้า และได้รับอนุมัติให้โอนหรือแลกเปลี่ยนส่วนจัดสรรจากกรมการค้าต่างประเทศ โดยประเภทส่วนจัดสรรที่โอนหรือแลกเปลี่ยน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าต่าง ประเทศกำหนด

(2) หลักฐานที่แสดงการรับชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) ในนามเจ้าของสินค้า และหนังสือรับรองการส่งออกสินค้าที่กรม การค้าต่างประเทศออกให้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นประเภทและมีจำนวนเท่ากับสินค้าที่ได้ บันทึกออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบของเจ้าของสินค้า

ข้อ 9 กรณีการส่งออกสินค้าที่มีส่วนจัดสรรโดยเจ้าของสินค้าใช้ชื่อส่วนจัดสรร ของบุคคลอื่น เจ้าของสินค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าเจ้าของสินค้าและเจ้าของส่วนจัดสรรเป็นผู้ส่ง ออกรับอนุญาตที่จดทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยเจ้าของส่วนจัดสรรมีส่วนจัดสรรเหลืออยู่จริง และเจ้าของส่วนจัดสรรยินยอมให้เจ้าของสินค้าใช้ส่วนจัดสรรดังกล่าว

(2) หลักฐานการโอนสิทธิการรับชำระเงินตามใบกำกับสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้า และหลักฐานแสดงการรับชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) ในนามเจ้าของสินค้า

(3) หลักฐานการส่งออก และหนังสือรับรองการส่งออกที่กรมการค้าต่างประเทศออกให้เป็นภาษาอังกฤษโดยระบุชื่อเจ้าของส่วนจัดสรรซึ่งเป็นประเภทและมีจำนวนเท่ากับสินค้าที่ได้บันทึกออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบของเจ้าของสินค้า

ข้อ 10 กรณีการส่งออกสินค้าในนามบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (Trading Company) ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน เจ้าของสินค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานของกรมการค้าต่างประเทศอนุมัติให้มอบสิทธิการส่งออกให้บริษัทการค้าระหว่างประเทศ โดยระบุประเภทส่วนจัดสรร สินค้า ประเทศผู้นำเข้า และหลักฐานการชำระค่าตอบแทน (ถ้ามี) ในหลักฐานดังกล่าว

(2) หลักฐานการส่งออก และหนังสือรับรองการส่งออกที่กรมการค้าต่างประเทศออกให้เป็นภาษาอังกฤษโดยระบุชื่อบริษัทการค้าระหว่างประเทศซึ่งสินค้าส่งออกเป็นประเภทและมีจำนวนเท่ากับสินค้าที่ได้บันทึกออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบของเจ้าของสินค้า

(3) หลักฐานการชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) ในนามเจ้าของสินค้า หรือในนามบริษัทการค้าระหว่างประเทศ

ข้อ 11 การส่งออกน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทรายโดยผ่านตัวแทนในการส่งออก ทั้งบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือบริษัทส่งออกอื่น โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทราย ตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย โดยครบถ้วน ถือว่าโรงงานน้ำตาลทรายเป็นผู้ส่งออก ตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวล รัษฎากร ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับตัวแทนในการส่งออกทั้งบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด หรือบริษัทผู้ส่งออกอื่นถือเป็นผู้ให้บริการ และดำเนินพิธีการส่งออกแทนโรงงานน้ำตาลทราย ตามมาตรา77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตัวแทนในการส่งออกดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มจากค่าบริการที่ได้รับจากโรงงานน้ำตาลทราย ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

โรงงานน้ำตาลทรายตามวรรคหนึ่ง จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าโรงงานน้ำตาลทรายเป็นเจ้าของโควต้าตามชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนด

(2) หนังสือสัญญาการแต่งตั้งตัวแทน ระหว่างโรงงานน้ำตาลทราย กับบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด และหรือบริษัทผู้ส่งออกอื่น เพื่อทำสัญญาซื้อขายและ ดำเนินการส่งออกแทน

(3) คำร้องขอรับหนังสืออนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดและปริมาณน้ำตาลที่โรงงานน้ำตาลทรายผลิตได้จริง ชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่ขอส่งออก ตลอดจนชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายคงเหลือ

(4) หนังสืออนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายตาม (3) ออกนอกราชอาณาจักร

(5) ใบอนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายไปนอกราชอาณาจักร ที่ได้ดำเนินการส่งออกเรียบร้อยแล้ว

(6) หลักฐานการรับมอบน้ำตาลทรายลงเรือ (กรณีส่งออกทางเรือ) หรือบรรทุกรถยนต์ (กรณีส่งออกทางบก) หรือบรรทุกเครื่องบิน (กรณีส่งออกทางอากาศ) ที่ผู้ประกอบการขนส่ง หรือผู้รับมอบอำนาจรับรองชนิดและปริมาณของน้ำตาลทรายที่ส่งออกหรือหนังสือกำกับการขนย้ายน้ำตาลทรายซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ข้อ 12 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และได้ขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จากผู้ประกอบการจดทะเบียน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

(3) หลักฐานของกรมศุลกากรที่แสดงว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้จัดทำใบอนุญาตนำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นอากาศยานหรือลงเรือเดินทะเล หรือหลักฐานที่แสดงว่ากรมศุลกากรอนุญาตให้นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าวขึ้นอากาศยานหรือลงเรือเดินทะเล

(4) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า(Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือเอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement เป็นต้น

ข้อ 13 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศโดยว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศให้จัดส่งสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศให้จัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ

(3) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศได้รับสินค้าที่จะดำเนินการส่งออกจากผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ

(ข) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อในต่างประเทศ

(ค) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า

(ง) วัน เดือน ปี ที่ออกเอกสาร

(4) หลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร

(5) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือเอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement เป็นต้นเว้นแต่กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยไม่มีค่าตอบแทน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice)

ข้อ 14 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศโดยว่าจ้างผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) ให้จัดส่งสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ว่าจ้างผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) หรือทำสัญญาเช่าตู้คอนเทนเนอร์ (Container) จากผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) ให้ดำเนินการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศแทนผู้ประกอบการจดทะเบียน

(3) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) ได้รับสินค้าที่จะดำเนินการส่งออกจากผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ

(ข) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อในต่างประเทศ

(ค) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า

(ง) วัน เดือน ปี ที่ออกเอกสาร

(4) หลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) ที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร

(5) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือเอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement เป็นต้นเว้นแต่กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยไม่มีค่าตอบแทน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice)

ข้อ 15 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปต่างประเทศโดยทางไปรษณีย์จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องมีหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน

ข้อ 16 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ แต่ผู้ซื้อนำติดตัวออกไปนอกราชอาณาจักรเอง โดยมิได้กระทำพิธีการศุลกากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เว้นแต่กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการ ซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้ซื้อดังกล่าวได้ผ่านการตรวจลงตราจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและได้ผ่านการตรวจสินค้าจากพนักงานศุลกากรแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าที่มีสถานประกอบการ ซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศ ยานนานาชาติ

ในการขออนุมัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัดที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี โดยจะต้องแนบเอกสารและรายการดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขอ

(ก) หนังสืออนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากรให้ประกอบกิจการขายสินค้าภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

(ข) สำเนาหรือภาพถ่ายสัญญาเช่าพื้นที่ที่ตั้งสถานประกอบการ ซึ่งได้ทำกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

(ค) สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.20

(ง) แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ และแผนผังแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการในกรณีมีสถานประกอบการตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติด้วย

(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในสถานประกอบการและสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าที่มีสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ จะต้องจัดทำแผ่นป้ายที่มีข้อความ "NO VAT" หรือ "TAX FREE" และจะต้องแสดงแผ่นป้ายดังกล่าวไว้ ณ ที่เปิดเผย ซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มี ลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ทั้งนี้ สถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยดังกล่าวต้องตั้งอยู่ภายในบริเวณที่ผู้ซื้อที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรได้ผ่านการตรวจลงตราจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และได้ผ่านการตรวจสินค้าจากพนักงานศุลกากรแล้ว

(4) หลักฐานแสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาออก (พิเศษ) ต่อกรมศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด และต้องเก็บและรักษาสำเนาใบขนสินค้าขาออก (พิเศษ) ดังกล่าวพร้อมทั้งรายงานการขาย (Sales Report) ไว้ ณ สถานประกอบการและสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ และพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้ทันที

รายงานการขายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายการอย่างน้อยดังนี้

(ก) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ

(ข) รหัสของหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย

(ค) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่กรมสรรพากรกำหนด

(ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี

(จ) ชื่อผู้ซื้อสินค้า

(ฉ) หมายเลขเที่ยวบินที่ผู้ซื้อสินค้าที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

(ช) หมายเลขหนังสือเดินทางของผู้ซื้อสินค้าที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

(ซ) ชื่อ ชนิด ประเภทของสินค้า โดยอาจแสดงเป็นรหัสก็ได้

(ฌ) ปริมาณของสินค้า

(ญ) ราคาของสินค้า

(ฎ) วัน เดือน ปี และเวลา ที่ออกใบกำกับภาษี

ข้อ 17 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก


สั่ง ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)