พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 753) พ.ศ. 2565 ยกเว้นรัษฎากรและค่าธรรมเนียม สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน (REIT Buy-back)
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 753) พ.ศ. 2565 ------------------------- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ในบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 753) พ.ศ. 2565” มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้ “กองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน” หมายความว่า กองทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนที่มีข้อกำหนดขายคืนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของและเป็นผู้ขายทรัพย์สินให้แก่กองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน และซื้อทรัพย์สินนั้นคืน “ทรัสตี” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการขายทรัพย์สินที่ได้ซื้อมาตามมาตรา 4 คืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาตรา 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและทรัสตีที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 แล้วแต่กรณี ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) การขายทรัพย์สินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนภายในสองปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องซื้อทรัพย์สินคืนจากทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน และทรัสตีของกองทรัสต์นั้นต้องขายทรัพย์สินคืนให้แก่บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้ซื้อทรัพย์สินนั้น (4) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้สิทธิในการได้รับการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงนับแต่วันที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้ มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการทำธุรกรรมในตลาดทุนได้ โดยการขายทรัพย์สินที่มีภาระผูกพันในการซื้อทรัพย์สินคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด สมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของเดิมที่มีภาระผูกพันในการซื้อทรัพย์สินคืนและทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน สำหรับเงินได้ มูลค่าฐานภาษี รายรับ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายทรัพย์สินและซื้อคืนทรัพย์สิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(เล่ม 139 ตอนที่ 44 ก ราชกิจจานุเบกษา 18 กรกฎาคม 2565) |