หมวด 1 ข้อความทั่วไป
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้“ปิโตรเลียม” หมายความว่า ปิโตรเลียมที่ผลิตในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม “น้ำมันดิบ” หมายความว่า น้ำมันดิบตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม “น้ำมันดิบที่ส่งออก” หมายความว่า น้ำมันดิบที่บริษัทซึ่งได้รับสัมปทาน หรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงน้ำมันดิบที่กลั่นในราชอาณาจักรเฉพาะส่วนที่ถือว่าเป็นน้ำมันดิบที่ส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม “กิจการปิโตรเลียม” หมายความว่า กิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และให้หมายความรวมถึงการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวไม่ว่าการโอนนั้นจะเป็นปกติธุระหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการหรือการโอนดังกล่าวด้วย “เงินได้” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาอันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน และรวมถึงภาษีอากรที่มีผู้อื่นออกแทนให้ แต่ไม่รวมถึงภาษีที่ให้บริษัทผู้ขายนำมาเป็นเครดิตตามมาตรา 32 “ราชอาณาจักร” หมายความว่า ราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม “สัมปทาน” หมายความว่า สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม “ขาย” หมายความว่า ขายตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม“จำหน่าย” หมายความว่า ส่งน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันของบริษัท ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อกิจการดังกล่าวของบริษัท นำปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงไปใช้ในกิจการใด ๆ ของบริษัทหรือของผู้อื่นโดยไม่มีการขาย หรือโอนปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงโดยไม่มีค่าตอบแทน(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532) “ราคามาตรฐาน” หมายความว่า ราคาประกาศตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม หักด้วยส่วนลดถ้ามี“ราคาตลาด” หมายความว่า ราคาในตลาดเปิดเผย หากไม่มีราคาดังกล่าว หมายความว่าราคาที่พึงคิดกันระหว่างบุคคลซึ่งเป็นอิสระต่อกันโดยไม่มีความสัมพันธ์ในด้านทุน หรือการจัดการ “ค่าภาคหลวง” หมายความว่า ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม “บริษัท” หมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่ง (1) ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน หรือ (2) ซื้อน้ำมันดิบที่บริษัทตาม (1) เป็นผู้ผลิต เพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร(เพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากร “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 5 กำหนดเวลาตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งขยายหรือเลื่อนเวลาออกไปได้ตามความจำเป็นแก่กรณี มาตรา 6 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานตรวจค้นหรือยึดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นใดซึ่งเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของกิจการปิโตรเลียม หรือซึ่งอธิบดีมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายดังกล่าว การตรวจค้นหรือยึดตามวรรคหนึ่งให้กระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้ถูกตรวจค้นหรือถูกยึด เว้นแต่การตรวจค้นหรือยึดในเวลาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ จะกระทำต่อไปก็ได้ หรือในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง อธิบดีจะออกคำสั่งให้ตรวจค้นหรือยึดในเวลาใด ๆ ก็ได้ มาตรา 7 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บริษัทแสดงบัญชี หลักฐาน รายงาน หรือแจ้งข้อความใด ๆ ซึ่งเกี่ยวกับ หรือซึ่งอธิบดีมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท คำสั่งตามวรรคหนึ่งจะให้ปฏิบัติก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกของบริษัทก็ได้ มาตรา 8 บรรดาบัญชี หลักฐาน และเอกสารประกอบการลงบัญชีซึ่งเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัทให้ทำเป็นภาษาไทยและต้องระบุเป็นเงินตราไทย เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้บริษัททำเป็นภาษาต่างประเทศและระบุเป็นเงินตราต่างประเทศได้ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562) มาตรา 8/1 เมื่ออธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยหรือให้เปลี่ยนแปลงเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 8 ให้บริษัทคำนวณมูลค่าของเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงิน ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีอนุมัติ และบรรดารายการต่าง ๆ รวมทั้งผลขาดทุนประจำปีคงเหลือตามมาตรา 28 (1) ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ที่เหลืออยู่ ณ วันนั้น เป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา(เพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562) มาตรา 9 บรรดาบัญชี หลักฐาน รายงาน และเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับ หรือซึ่งอธิบดีหรือเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของกิจการปิโตรเลียม ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศ อธิบดีหรือเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จัดการแปลเป็นภาษาไทยให้เสร็จภายในเวลาอันสมควรได้ มาตรา 10 หมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นที่มีถึงบุคคลใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำไปส่งในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้รับ หรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ถ้าไม่สามารถจะส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่งด้วยเหตุใด ๆ ให้ส่งโดยวิธีปิดหมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่น ณ ที่เห็นได้ง่ายที่ประตูบ้าน สำนักงาน ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของผู้รับ หรือส่งโดยวิธีย่อข้อความในหมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นนั้นลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ก็ได้ เมื่อได้ส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคสองและเวลาได้ล่วงพ้นไปสามวันแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหมายเรียก หนังสือแจ้งการประเมิน หรือหนังสืออื่นนั้นแล้ว มาตรา 11 เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษี หรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใดหรือทำให้เป็นที่ล่วงรู้แก่ผู้อื่นโดยวิธีใด ๆ เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 12 ให้บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ได้รับยกเว้น (1) ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และ (2) ภาษีอากรตามกฎหมายอื่น เว้นแต่ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ทั้งนี้ เฉพาะภาษีอากรที่เก็บจากกำไรสุทธิหรือที่เก็บจากเงินได้ที่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ หรือเงินได้อันต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 13 ให้บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศได้รับยกเว้น (1) ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และ (2) ภาษีอากรตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เฉพาะภาษีอากรที่เก็บจากเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายจากกำไรสุทธิ หรือที่จ่ายจากเงินได้อันต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 14 ภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อถึงกำหนดชำระหรือนำส่งแล้ว มิได้ชำระหรือนำส่ง ให้ถือเป็นภาษีค้าง เพื่อให้ได้รับชำระภาษีค้าง ให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างมาใช้บังคับ มาตรา 15 ให้ลดหรือยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลต่างประเทศ มาตรา 16 ให้อธิบดีมีอำนาจ (1) กำหนดแบบแสดงรายการและแบบพิมพ์อื่น (2) แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานอื่น (3) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับให้ผู้เสียภาษีหรือผู้ทำการแทนทำบัญชี หลักฐาน รายงาน หรือทำการใด ๆ ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บและการเสียภาษี การแต่งตั้งเจ้าพนักงานตาม (2) และการกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับตาม (3) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 17 อำนาจของอธิบดีตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 26 (1) และมาตรา 77 อธิบดีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองในกรมสรรพากร หรือสรรพากรเขต เป็นผู้ทำการแทนได้ มาตรา 18 รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดส่วนลดเพื่อประโยชน์ในการคำนวณราคามาตรฐานดังต่อไปนี้ (1) ไม่เกินร้อยละ 7 ของราคาประกาศตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเป็นเวลาไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่บริษัทเริ่มผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจแต่ละแปลงที่มิใช่แปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม (2) ไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาประกาศตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเป็นเวลาไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่บริษัทเริ่มผลิตปิโตรเลียมจากแต่ละพื้นที่ผลิตในแปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดส่วนลดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่มีการขยายอายุสัมปทานในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เนื่องจากการผลิตปิโตรเลียมต้องหยุดชะงักลงเพราะเหตุที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน มิให้นับระยะเวลาที่ได้รับการขยายอายุสัมปทานนั้นรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516)(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550) มาตรา 18/1 ให้บริษัทซึ่งมีหน้าที่ยื่นแผนการผลิตปิโตรเลียม รายงานผลการประกอบกิจการปิโตรเลียม แผนงานและงบประมาณประจำปี และเสนองบบัญชีค่าใช้จ่ายและงบการเงินประจำปี ตามมาตรา 42 ทวิ มาตรา 76 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องส่งสำเนาแผนการผลิตปิโตรเลียม ผลการประกอบกิจการปิโตรเลียม แผนงานและงบประมาณประจำปี และงบบัญชีค่าใช้จ่ายและงบการเงินประจำปีดังกล่าวต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด(เพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560) มาตรา 19 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ |