Skip to Content

หมวด 7 ทวิ บทบัญญัติเฉพาะกรณี

มาตรา 65 ทวิ ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่บริษัทซึ่งได้ทำสัญญาปิโตรเลียม ก่อนปี พ.ศ. 2512 และได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2522 และบริษัทอื่นตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด

ให้นำบทนิยามคำว่า “เงินได้” “จำหน่าย” และ “บริษัท” ในมาตรา 65 ตรี มาใช้แทนบทนิยามของคำเหล่านั้นในมาตรา 4 และให้นำความในมาตรา 65 จัตวามาตรา 65 เบญจ มาตรา 65 ฉ มาตรา 65 สัตต มาตรา 65 อัฏฐ มาตรา 65 นว มาตรา 65 ทศ และมาตรา 65 เอกาทศ มาใช้บังคับแทนความในมาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 31 มาตรา 41 และมาตรา 43 ตามลำดับ สำหรับบริษัทตามวรรคหนึ่ง

มิให้นำคำนิยาม “ราคามาตรฐาน” ในมาตรา 4 กับความในมาตรา 13 มาตรา 18 และมาตรา 32 มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่ง

ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ และที่ใดบัญญัติถึง “เงินได้” “จำหน่าย” หรือ “บริษัท” ให้หมายถึง “เงินได้” “จำหน่าย” หรือ “บริษัท” ตามลำดับตามหมวดนี้ และที่ใดที่อ้างถึง มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 31 มาตรา 41 และมาตรา 43 ให้หมายถึงมาตรา 65 จัตวา มาตรา 65 เบญจ มาตรา 65 ฉ มาตรา 65 สัตต มาตรา 65 อัฏฐ มาตรา 65 นว มาตรา 65 ทศ และมาตรา 65 เอกาทศ ตามลำดับตามหมวดนี้

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 ตรี ในหมวดนี้

“เงินได้” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาอันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินและหมายความรวมถึงภาษีอากรที่มีผู้อื่นออกแทนให้

“จำหน่าย” หมายความว่า ส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร ส่งปิโตรเลียมไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นปิโตรเลียมของบริษัท นำปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงไปใช้ในกิจการใด ๆ ของบริษัทโดยไม่มีการขาย หรือโอนปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวง ไปโดยไม่มีค่าตอบแทน

“บริษัท” หมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 จัตวา บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้

(1) ภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 แต่ไม่เกินร้อยละ 48 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม

(2) ภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 23.08 ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ตาม (1) หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรดังกล่าว หรือที่ถือว่าเป็นเงินกำไรดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร

เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้ตาม (2) ให้ถือภาษีเงินได้ตาม (2) นั้น เป็นเงินกำไรที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักรด้วย

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 เบญจ ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินได้หลังจากหักต้นทุนตามมาตรา 33 แล้ว

บุคคลใดได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากบริษัท บุคคลนั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยนั้นในอัตราตามวรรคหนึ่ง และให้นำภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วตามมาตรา 45 มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องเสียบุคคลใดได้รับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (1) แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (2) บุคคลนั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 23.08 ของเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรนั้น และให้นำภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วตามมาตรา 45 มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 ฉ ภายใต้บังคับมาตรา 65 สัตต และมาตรา 65 อัฏฐ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียมไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร และภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง

(1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน

(2) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต

(3) ค่ารับรอง

(4) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี

(5) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ

(6) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน

(7) ค่าภาคหลวง ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม

(8) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท

(9) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้วสำหรับรายได้ตามมาตรา 22 (4)

(10) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะที่บริษัทพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้รับและได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยนั้นแล้วตามมาตรา 45

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 สัตต รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้รวมถึง

(1) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน

รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมโดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีและให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 65 อัฏฐ (1) วรรคสอง และรายจ่ายตามปกติ และจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 65 อัฏฐ (1) วรรคสองด้วย

(2) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หา หรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค

(3) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ

(4) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท

(5) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ฉ (5)

(6) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ

(7) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(8) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

(9) ค่าธรรมเนียมการสงวนพื้นที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

(10) ค่าปรับทางอาญา

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 อัฏฐ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) กำไรสุทธิต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี

รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลือกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกัน ก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรก ก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือก ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไปให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน

รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้

(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก

(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใด ๆ ตามสัมปทานก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี

(2) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวด 2 และหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัทให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

(3) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (1) ให้ถือตามราคาที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับจากการขายปิโตรเลียมหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียมนั้น

(4) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (2) ให้คำนวณตามราคาตลาด

ในกรณีที่มีการส่งปิโตรเลียมไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันของบริษัท ให้กำหนดมูลค่าของปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่งในวันที่มีการขายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมนั้น และรวมเป็นเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมนั้น ในกรณีที่มีการจำหน่ายปิโตรเลียมโดยประการอื่น ให้กำหนดมูลค่าของปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่งในเวลาที่มีการจำหน่ายและรวมเป็นเงินได้ในปีที่มีการจำหน่ายนั้น

การกำหนดราคาตลาดและปริมาณของปิโตรเลียมที่จะต้องนำมูลค่ามารวมเป็นเงินได้ตามวรรคสอง ให้เฉลี่ยเงินได้ทั้งหมดที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมหรือมูลค่าตามราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมด แล้วแต่กรณี เป็นมูลค่าของปิโตรเลียมนั้น ทั้งนี้ ตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แต่มิให้ถือว่ามีการขายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใด ๆ หลังจากรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งปิโตรเลียมนั้นไปยังโรงกลั่น เว้นแต่บริษัทพิสูจน์ได้ว่ายังมิได้มีการขายหรือส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมนั้น

(5) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (3) ให้คำนวณตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมที่เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง

(6) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น

(7) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตรา และเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

(8) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียม บริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้

(9) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

(10) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (12) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (7) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(11) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้ หรือจะคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่

การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้วให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

(12) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)

(13) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยหลังสุดที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)

(14) หนี้สูญจะจำหน่ายจากบัญชีได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้สูญรายใดที่ได้จำหน่ายแล้วถ้าได้รับชำระในภายหลังให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระนั้น

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561)

(15) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ จะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ

(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท

(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ

(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ

(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 อัฏฐ/1 ในกรณีที่บริษัทตามหมวดนี้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา ๘ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัทดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้คำนวณโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้นตามมาตรา 65 อัฏฐ แต่มิให้นำมาตรา 65 อัฏฐ (10) (12) และ (13) มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการดังนี้แทน

(1) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานด้วยวิธีการตาม (2) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตามมาตรา 65 อัฏฐ (7) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้น ให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(2) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น

ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(3) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(4) ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันเนื่องมาจากการคำนวณตามมาตรา 8/1 หรือจากการคำนวณมูลค่าของเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษีตามมาตรา 42 มิให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้(เพิ่มโดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)

มาตรา 65 นว ในกรณีที่บริษัทมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (2) หรือมีหน้าที่หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 45 สำหรับเงินได้ตามมาตรา 65 เบญจ วรรคสาม ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้บริษัทได้รับเครดิตเพื่อหักออกจากภาษีดังกล่าวสำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักรเป็นจำนวนเงินตามอัตราดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละ 4.375 ของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวงตามมาตรา 22 (1) (2) และ (3) สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตจากแปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกิน 200 เมตร

(2) ร้อยละ 6.25 ของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวงตามมาตรา 22 (1) (2) และ (3) สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตจากแปลงสำรวจนอกจาก (1)

การนำเครดิตมาหักจากภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังต่อไปนี้

(1) เครดิตที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะต้องมีจำนวนไม่เกินภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (1) และ (2) สำหรับกำไรที่ได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (1) และมาตรา 65 เบญจ วรรคสาม แล้วแต่กรณี

(2) เครดิตที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะต้องไม่เกินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 65 จัตวา (2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือไม่เกินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 65 เบญจ วรรคสาม สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 45 แล้วแต่กรณี ถ้ายังมีเครดิตเหลืออยู่ ให้ยกเครดิตส่วนที่เหลือนั้นไปหักในรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไปได้

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 ทศ การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้สำหรับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (1) หรือมาตรา 65 เบญจ ให้ยื่นภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (2) ให้ยื่นภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่าย

การยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 37 ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม

การยื่นแบบแสดงรายการมาตรา 59 ให้ยื่นภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 เอกาทศ ถ้ามีภาษีต้องเสีย ให้บริษัทที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามหมวด 3 ชำระภาษีภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ เว้นแต่ในกรณีการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้สำหรับภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 65 จัตวา (2) ให้ชำระภาษีภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่ายพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

ในกรณีตามมาตรา 35 วรรคสอง ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้มีหน้าที่ชำระภาษีร่วมกับบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 ทวาทศ บทบัญญัติมาตรา 12 มิให้นำมาใช้บังคับแก่

(1) เงินได้ที่บริษัทได้จากกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียม

(2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บุคคลใดได้รับจากบริษัท

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

มาตรา 65 เตรส ในกรณีที่บริษัทมีเงินได้จากกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียมให้บริษัทเสียภาษีสำหรับเงินได้นั้นตามประมวลรัษฎากร

ให้บริษัทจัดทำบัญชี หลักฐาน รายงานและเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับเงินได้จากกิจการอื่นที่กล่าวในวรรคหนึ่งแยกต่างหากจากบัญชี หลักฐาน รายงานและเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับเงินได้จากกิจการจากปิโตรเลียม

ในกรณีที่บริษัทมีรายจ่ายซึ่งเป็นทั้งของกิจการอื่นและกิจการปิโตรเลียมรวมกันให้แบ่งเฉลี่ยรายจ่ายตามส่วนระหว่างกิจการอื่นและกิจการปิโตรเลียม

ให้บริษัทปฏิบัติตามระเบียบการจัดแบ่งเฉลี่ยรายจ่ายระหว่างกิจการต่าง ๆ ตามที่อธิบดีได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบแล้ว

มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (2) ซึ่งบริษัทนำไปใช้ในกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียมในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากกิจการอื่นนอกจากกิจการปิโตรเลียมในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้

(เพิ่มโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)