(ก) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์(ข) ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2546 และต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2547เป็นต้นไป
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 339 (พ.ศ. 2561)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (38) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(38) ดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ ดังต่อไปนี้
(ก) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์
(ข) ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2546 และต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2547เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินดังกล่าวเป็นจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดปีภาษี และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (69) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(69) ดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรือผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์ที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศและมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(ก) ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
(ข) เฉพาะกรณีการฝากเงินที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
(ค) ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์
ทั้งนี้ เมื่อรวมดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการฝากเงินดังกล่าวกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์แล้วต้องไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้นและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
Article Number: 34
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Wed, Aug 30, 2023
Online URL: https://www.paseetax.com/article/กฎกระทรวง-ฉบับที่-339-40;พ-ศ-2561-41;-เงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม-34.html