ป. 117/2545 เรื่อง การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มา


คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 117/2545

เรื่อง การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มาตรา 89/1 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่ง หรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ

 

เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้เสียภาษีอากร ในการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มาตรา 89/1 และมาตรา 91/21(6)แห่งประมวลรัษฎากร กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ที่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการด้วย กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ข้อ 2 กรณีได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

(1) กรณีขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปดังกล่าวตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่ม ทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษ ของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่ง หรือแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ตามมาตรา 27 หรือมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) กรณีขยายกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปดังกล่าวตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ข้อ 3 กรณีผู้ต้องเสียภาษีใช้สิทธิชำระภาษีเป็นรายงวด หากวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลา ซึ่งต้องชำระภาษีในแต่ละงวดตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ

(1) กรณีผ่อนชำระภาษีตามมาตรา 64(1) แห่งประมวลรัษฎากร หากวัน สุดท้ายที่ต้องผ่อนชำระงวดที่สองหรืองวดที่สามตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่ม ทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ตัวอย่าง นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ปี พ.ศ.2542 มีภาษีที่ต้องชำระ 6,000 บาท และได้ใช้สิทธิตามมาตรา 64(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยงวดที่หนึ่งได้ชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ จำนวน 2,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 งวดที่สองต้องชำระจำนวน 2,000 บาท ภายในเดือนเมษายน 2543 และงวด ที่สามต้องชำระ จำนวน 2,000 บาท ภายในเดือนพฤษภาคม 2543 แต่ปรากฏว่าวันที่ 30 เมษายน 2543 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ นาย ก. มีสิทธินำเงินงวดที่สองไปชำระ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 โดยไม่หมดสิทธิที่จะชำระเป็นรายงวดต่อไป และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

(2) กรณีผ่อนชำระภาษีตามมาตรา 64(2) แห่งประมวลรัษฎากร หากวันสุดท้าย ที่ต้องผ่อนชำระงวดที่สองหรืองวดที่สามตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ตัวอย่างนาย ข. ได้ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนเงินมากกว่า 3,000 บาท ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 นาย ข. ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 64 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยงวดที่หนึ่งได้ชำระ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 งวดที่สองจะต้องชำระภายในเดือนเมษายน 2543 และงวดที่สามจะ ต้องชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2543 แต่ปรากฏว่าวันที่ 30 เมษายน 2543 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ นาย ข. มีสิทธินำเงินงวดที่สองไปชำระในวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 โดยไม่หมดสิทธิที่จะชำระเป็นรายงวดต่อไป และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติม แต่อย่างใด

(3) กรณีได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีเป็นรายงวด ตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการผ่อนชำระภาษีอากร หากวันสุดท้ายที่ต้องผ่อนชำระของงวดใดงวดหนึ่งตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ตัวอย่างบริษัท ค. จำกัด ได้ถูกประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมิน เป็นเงินจำนวน 120,000 บาท บริษัท ค. จำกัด ได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการผ่อนชำระภาษีอากร เป็นงวดรายเดือน รวม 6 งวด แต่ละงวดต้องชำระภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน งวดที่หนึ่งได้ชำระเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 งวด ที่สองชำระเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 งวดที่สามชำระเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 แต่ปรากฏว่างวดที่ 4 วันที่ 7 ตุลาคม 2543 ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ บริษัท ค. จำกัด มีสิทธินำเงินงวดที่ 4 ไปชำระในวันที่ 9 ตุลาคม 2543 ได้ โดยไม่หมดสิทธิที่จะชำระเป็นรายงวดต่อไป และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติม แต่อย่างใด

ข้อ 4 กรณีบุคคลผู้ต้องเสียเบี้ยปรับขอลดเบี้ยปรับตามคำสั่งกรมสรรพากรเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6)แห่งประมวลรัษฎากร การนับระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะที่จะได้รับสิทธิลดเบี้ยปรับ หากวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเงินเพิ่มให้คำนวณในอัตรา ร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ตามมาตรา 89/1 หรือมาตรา 91/21(6)แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง

(1) บริษัท ง. จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนกรกฎาคม 2539 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 ขอลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 2 (1) (ข) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ชำระภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วัน พ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับได้ (ปัจจุบันเป็นข้อ 5 (1) (ข) ของคำสั่ง กรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษี มูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2542) เนื่องจากกรณีนี้วันที่ 14 และวันที่ 15 กันยายน 2539 ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของทางราชการ ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 1 เดือน

(2) บริษัท จ. จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนกรกฎาคม 2543 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2543 ต่อมาได้ยื่นแบบแสดง รายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของเดือนกรกฎาคม 2543 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 กรณีนี้การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตามข้อ 5 (1) (ค) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 จะต้องนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ วันที่ 16 สิงหาคม 2543 จนถึงวันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม คือวันที่ 16 ตุลาคม 2543 ซึ่งนับได้เป็นเวลา 62 วัน แต่เนื่องจากวันที่ 14 และวันที่ 15 ตุลาคม 2543 ตรงกับ วันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของทางราชการ กรณีนี้จึงถือว่าบริษัทฯ ชำระภาษีภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน

ข้อ 5 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือแนวทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

สั่ง ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2545

      ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

    อธิบดีกรมสรรพากร

 



Article Number: 6490
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Mon, Apr 22, 2024

Online URL: https://www.paseetax.com/article/ป-117-2545-เรื่อง-การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม-ภาษีเงินได้-ภาษีมูลค่าเพิ่ม-และภาษีธุรกิจเฉพาะ-ตามมาตรา-27-มาตรา-67-ตรี-มาตรา-89-มา-6490.html