ป. 153/2559 เรื่อง การเสียอากรสำหรับตราสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ


คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 153/2559

เรื่อง การเสียอากรสำหรับตราสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ


เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียอากรสำหรับตราสารเช่าที่ดินโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ ตามมาตรา 103 (1) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และตราสารจ้างทำของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เป็นตราสารที่กำหนดให้ต้องเสียอากรแสตมป์ โดยมีวิธีการเสียอากรแสตมป์ดังนี้

(1) ปิดแสตมป์ทับกระดาษ เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย และขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ

(2) ชำระเป็นตัวเงินเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย

ข้อ 2 ตราสารดังต่อไปนี้ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร

(1) เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ

(ก) ตราสารที่มีค่าเช่าตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป สำหรับตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

(ข) ตราสารที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า หรือ

(ค) ตราสารที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน

(2) จ้างทำของ

(ก) ตราสารที่มีสินจ้างตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป สำหรับตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป หรือ

(ข) ตราสารที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป

ตราสารตามวรรคหนึ่ง หากมิได้มีการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ถือว่าตราสารนั้นไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินและเสียเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และ 114 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 3 ตราสารเช่าที่ต้องเสียอากร หมายถึง เอกสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ซึ่งผู้ให้เช่าได้ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้เช่า เพื่อให้ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นภายในกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกัน และผู้เช่าได้ตกลงที่จะชำระค่าเช่าเป็นการตอบแทน โดยคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย

ตัวอย่าง

(1) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าที่ดิน กำหนดเวลาเช่า 1 ปี โดยได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 โดยสัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

(2) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการ กำหนดเวลาเช่า 1 ปี โดยสัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 และบริษัท ข จำกัด ผู้เช่า ได้เข้าใช้อาคารสำนักงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่บริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

(3) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าโกดังเก็บสินค้า กำหนดเวลาเช่า 1 ปี โดยสัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 และบริษัท ข จำกัด ผู้เช่า ได้เข้าใช้โกดังเก็บสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งบริษัท ข จำกัด ให้มาลงนามในสัญญาเช่าในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และบริษัท ข จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าดังกล่าวในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

(4) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องในศูนย์การค้าเพื่อประกอบกิจการขายเฟอร์นิเจอร์ กำหนดเวลาเช่า 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 แต่บริษัท ข จำกัด ผู้เช่า ได้เข้าปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้ประกอบกิจการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนสัญญาเช่ามีผลใช้บังคับ ต่อมาบริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด ลงนามในหนังสือเจตนาจองพื้นที่ (Reservation Information Sheet) ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเช่า ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

(5) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าโรงงานเพื่อใช้ผลิตสินค้า กำหนดเวลาเช่า 5 ปี บริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียน ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่นำตราสารไปจดทะเบียนการเช่า

(6) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องชุด โดยบริษัท ข จำกัด มีหนังสือขอเช่าห้องชุดดังกล่าวไปยังบริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ก จำกัด มีหนังสือตอบรับยินยอมให้เช่าไปยังบริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 หนังสือตอบรับตามหนังสือขอเช่าเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารเช่า บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่า มีหน้าที่ต้องเสียอากร ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารเช่า

ข้อ 4 ผู้ให้เช่าตามข้อ 3 มีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาท แห่งค่าเช่าหรือเงินกินเปล่า หรือทั้งสองอย่างรวมกันตลอดอายุการเช่า

กรณีสัญญาเช่าที่ไม่ได้กำหนดอายุการเช่าไว้ ให้ถือว่าสัญญาเช่านั้นมีกำหนด 3 ปี

กรณีสัญญาเช่าใดครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว แต่ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่โดยผู้ให้เช่าไม่ได้ทักท้วง และคู่สัญญาไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ให้ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่าและต้องเสียอากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่นั้น

ตัวอย่าง

(1) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการ ตกลงค่าเช่าปีละ 300,000 บาท โดยไม่กำหนดระยะเวลาการเช่า ให้ถือว่าสัญญาเช่าดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี ดังนั้น สัญญาเช่าจึงมีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 900,000 บาทบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

(2) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการ ตกลงค่าเช่าปีละ 300,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 1 ปี บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 300,000 บาท

ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาเช่า บริษัท ข จำกัด ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่โดยบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง และคู่สัญญาก็ไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ถือว่าเริ่มขึ้นใหม่นั้นเป็นสัญญาเช่าที่ไม่กำหนดเวลาจึงต้องถือว่ามีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และสัญญาเช่าใหม่มีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 900,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ โดยต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

(3) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าอาคารโรงงานเพื่อใช้ผลิตสินค้าตกลงค่าเช่าปีละ 500,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 5 ปี แต่มิได้นำสัญญาเช่าไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้โดยผลกฎหมายจะทำให้สัญญาเช่าดังกล่าวใช้บังคับได้เพียง 3 ปี แต่สัญญาเช่ามีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 2,500,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 2,500,000 บาท

(4) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าโกดังเพื่อใช้เป็นที่เก็บสินค้า ตกลงค่าเช่าปีละ 500,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาเช่า บริษัท ข จำกัดผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่โดยบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง และคู่สัญญาก็ไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ กรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้น ได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ถือว่าเริ่มขึ้นใหม่นั้นเป็นสัญญาเช่าที่ไม่กำหนดเวลาจึงต้องถือว่ามีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และสัญญาเช่าใหม่มีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 1,500,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ โดยต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

(5) บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าโกดังเพื่อใช้เป็นที่เก็บสินค้า ตกลงค่าเช่าปีละ 500,000 บาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี โดยข้อตกลงตามสัญญาเช่ากำหนดว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าให้สัญญาเช่าเดิมมีผลใช้บังคับต่อไปตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนการเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อตกลงการต่ออายุสัญญาเช่าจึงใช้บังคับไม่ได้บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

แต่อย่างไรก็ตาม หากครบกำหนดเวลาเช่า บริษัท ข จำกัด ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่ โดยบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง และคู่สัญญาก็ไม่ได้ทำสัญญาขึ้นใหม่ ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า เนื่องจากสัญญาเช่าที่ถือว่าเริ่มขึ้นใหม่นั้นเป็นสัญญาเช่าที่ไม่กำหนดเวลาจึงต้องถือว่ามีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และสัญญาเช่าใหม่มีมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 1,500,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ โดยต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,500,000 บาท

(6)บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องในศูนย์การค้าเพื่อประกอบกิจการขายสินค้า กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี ตกลงค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท และมีข้อตกลงให้บริษัท ข จำกัด ต้องจ่ายค่าเช่าอีกส่วนหนึ่งตามส่วนแบ่งรายได้ สัญญาเช่ามีมูลค่าที่ปรากฏจำนวน 900,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

หากบริษัท ก จำกัด ได้รับส่วนแบ่งรายได้ในเดือนแรกแห่งสัญญาเช่าอีกจำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นผลให้บริษัท ก จำกัด ได้รับค่าเช่าเกิน 1,000,000 บาท บริษัท ก จำกัดผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท

(7)บริษัท ก จำกัด ให้บริษัท ข จำกัด เช่าห้องในศูนย์การค้าเพื่อประกอบกิจการขายสินค้า กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี บริษัท ข จำกัด ตกลงจ่ายค่าเช่าให้บริษัท ก จำกัดตามส่วนแบ่งรายได้ โดยประมาณค่าเช่าตลอดสัญญาเช่ามีมูลค่า จำนวน 900,000 บาทบริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

ต่อมาบริษัท ก จำกัด ได้รับค่าเช่าตามส่วนแบ่งรายได้จริงมากกว่ามูลค่าที่ประมาณไว้ จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นผลให้บริษัท ก จำกัด ได้รับค่าเช่าเกิน 1,000,000 บาท บริษัท ก จำกัด ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท

ข้อ 5 ตราสารจ้างทำของที่ต้องเสียอากร หมายถึง เอกสารการจ้างทำของซึ่งผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเป็นการตอบแทน โดยคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย

ตัวอย่าง

(1) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างให้สร้างอาคารสำนักงาน โดยบริษัท ก จำกัด แจ้งให้บริษัท ข จำกัด ประเมินราคางานเบื้องต้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ข จำกัด ทำใบเสนอราคา (Quotation) ให้แก่บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างและลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างจึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารจ้างทำของ

(2) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมเครื่องจักร โดยบริษัท ข จำกัดผู้รับจ้าง ออกใบเสนอราคา (Quotation) ให้บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ก จำกัด ได้ลงนามในใบเสนอราคาฉบับดังกล่าวในวันที่ 1 มีนาคม 2559 บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทำตราสารจ้างทำของ

(3) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมเครื่องถ่ายเอกสาร โดยบริษัท ขจำกัด ผู้รับจ้าง ออกใบเสนอราคา (Quotation) ให้บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่บริษัท ก จำกัด ไม่ได้ลงนามในใบเสนอราคาดังกล่าว ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase order) แจ้งให้บริษัท ข จำกัด ทราบในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ใบสั่งจ้างตามใบเสนอราคาเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 มีนาคม 2559

(4) บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมหลังคาอาคารโรงงานบริษัท ข จำกัด ได้ซ่อมหลังคาอาคารโรงงานตามที่ตกลงแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) ให้แก่บริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และบริษัท ข จำกัด ออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) พร้อมแนบใบสั่งจ้างเรียกเก็บเงินจากบริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ใบแจ้งหนี้ตามใบสั่งจ้างเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 เมษายน 2559

ข้อ 6 ผู้รับจ้างตามข้อ 5 มีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีไม่ทราบจำนวนสินจ้างในขณะทำสัญญาจ้างทำของว่าเป็นจำนวนเท่าใดให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควร แล้วเสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณนั้น

กรณีมีการรับเงินสินจ้างเป็นคราวๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน

ตัวอย่าง

(1) นาย ก ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ทำการก่อสร้างโรงจอดรถยนต์ราคาค่าก่อสร้าง 900,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

(2) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ให้ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานราคาค่าก่อสร้าง 1,100,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 1,100,000 บาท

(3) ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นาย ก ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ทำการก่อสร้างโรงจอดรถยนต์ ราคาค่าก่อสร้าง 900,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2559 นาย ก และบริษัท ข จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวแก้ไขข้อสัญญาโดยเพิ่มค่าก่อสร้างอีกจำนวน 200,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องชำระอากรเพิ่มเติมให้ครบเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันจัดทำตราสารบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างทำของ

(4) ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นาย ก ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ทำการก่อสร้างบ้าน ราคาค่าก่อสร้าง 900,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2559 นาย ก และบริษัท ข จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวให้บริษัท ข จำกัด ทำการก่อสร้างโรงจอดรถยนต์ ราคาค่าก่อสร้าง 200,000 บาท โดยบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาท ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันจัดทำตราสารบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างทำของ

(5)บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างนาย ข เป็นนายหน้าจัดหาลูกค้าโดยคิดสินจ้างจากจำนวนลูกค้าที่หาได้ ในอัตราคนละ 10,000 บาท ทำให้ไม่อาจทราบจำนวนสินจ้างในขณะทำสัญญา จึงประมาณสินจ้างตามสมควรไว้จำนวน 500,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 500,000 บาท

ต่อมา เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง บริษัท ก จำกัด จ่ายสินจ้างตามผลงานที่นาย ขทำได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 700,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 200,000 บาท ที่เพิ่มขึ้น ในทันทีที่มีการรับเงิน

(6) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างนาย ข เป็นที่ปรึกษาทางการตลาดและแนะนำลูกค้า โดยคิดสินจ้างในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายของบริษัท ก จำกัด ในแต่ละปี ทำให้ไม่อาจทราบจำนวนสินจ้างในขณะทำสัญญา จึงประมาณสินจ้างตามสมควรไว้จำนวน 800,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 800,000 บาท

ต่อมา เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง บริษัท ก จำกัด จ่ายสินจ้างตามผลงานที่นาย ข ทำได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,000,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาทที่เพิ่มขึ้น ในทันทีที่มีการรับเงิน

(7) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ให้ซ่อมเครื่องถ่ายเอกสารที่สำนักงานของบริษัท ก จำกัด กำหนดระยะเวลาการจ้าง 3 ปี ตกลงจ่ายสินจ้างรายปีๆ ละ 300,000 บาท รวมสินจ้างทั้งสิ้น 900,000 บาท โดยข้อตกลงการจ้างตามสัญญากำหนดให้บริษัท ข จำกัด ปฏิบัติงาน เฉพาะช่วงเวลา 08.00 น. ถึง 16.00 น. และหากบริษัท ข จำกัด ได้ปฏิบัติงานนอกเวลาดังกล่าวจะเรียกเก็บสินจ้างเพิ่มอีกครั้งละ 5,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 900,000 บาท ในขณะทำสัญญา

หากบริษัท ข จำกัด ได้ปฏิบัติงานนอกเวลา บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรเพิ่มเติมให้ครบ 1 บาท ต่อทุกจำนวน 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่ได้รับเป็นคราว ๆ ในทันทีที่มีการรับเงิน และหากบริษัท ก จำกัด ได้จ่ายสินจ้างให้บริษัท ข จำกัด โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 1,000,000 บาท บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่าสินจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

ข้อ 7 ผู้มีหน้าที่เสียอากรใดเพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากรหรือกระทำการใด ๆ เพื่อไม่ให้เสียอากร ผู้นั้นมีความผิดอาญาต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

ข้อ 8 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก


สั่ง ณ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ประสงค์ พูนธเนศ

(นายประสงค์ พูนธเนศ)

อธิบดีกรมสรรพากร



Article Number: 6526
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022

Online URL: https://www.paseetax.com/article/ป-153-2559-เรื่อง-การเสียอากรสำหรับตราสารการเช่าที่ดิน-โรงเรือน-สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น-หรือแพ-และตราสารจ้างทำของ-6526.html