(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล การโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามปกติจะต้องตีราคาทรัพย์สินในราคาตามสภาพของทรัพย์สิน ณ วันโอน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ณ วันโอนตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 57/2538
เรื่อง แนวทางการพิจารณา กรณีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แยกธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันเป็นสองบริษัท
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำกรณีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แยกธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันเป็นสองบริษัท สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่รับโอนจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เดิม กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การแยกกิจการทั้งสองประเภทออกจากกัน โดยการตั้งบริษัทขึ้นใหม่ ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เดิมจะต้องมีการโอนทั้งทรัพย์สินและหนี้สินไปยังบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ในกรณีนี้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ผู้โอน มีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนี้ คือ
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล การโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามปกติจะต้องตีราคาทรัพย์สินในราคาตามสภาพของทรัพย์สิน ณ วันโอน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ณ วันโอนตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
หากการโอนทรัพย์สินในกรณีดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ตามข้อ 2 ให้ถือว่าการโอนทรัพย์สินดังกล่าว เป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่ใช้ในการประกอบกิจการทั้งที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปให้บริษัทที่ตั้งใหม่ ถือเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้โอนต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทตั้งใหม่ผู้รับโอนในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 (8) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือราคาตามที่ปรากฏในบัญชี (Book Value) เป็นมูลค่าของฐานภาษี
(3) ภาษีธุรกิจเฉพาะ การโอนทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีดังกล่าว ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 บริษัทผู้โอน จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับรายรับซึ่งเป็นฐานภาษีที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ต้องใช้ราคาตลาดหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้น แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
แต่หากการโอนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีดังกล่าว เป็นไปตามเงื่อนไข วิธีการ และหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามข้อ 2 ให้ถือว่ากรณีดังกล่าวมีเหตุอันสมควรที่จะถือว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่ปรากฏในบัญชี (Book Value) ณ วันที่โอน เป็นรายรับซึ่งเป็นฐานภาษีที่จะนำมาคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
ข้อ 2 การโอนทรัพย์สินที่เข้าลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) ผู้รับโอนต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อการรับโอนกิจการโดยเฉพาะ และ
(2) ผู้รับโอนต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีวัตถุประสงค์ ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และต้องได้รับโอนทรัพย์สินก่อนหรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และ
(3) ผู้โอนต้องถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทผู้รับโอน และ
(4) ผู้โอนและผู้รับโอน ต้องดำเนินการโอนและรับโอนทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตามมูลค่าที่ปรากฏในบัญชี (Book Value) ณ วันที่โอน และ
(5) ผู้โอนจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างของกรมสรรพากร ณ วันที่โอน เว้นแต่ได้จัดให้มีธนาคารหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรค้าง และค่าใช้จ่ายในการบังคับหนี้ดังกล่าวแล้ว และ
(6) ผู้โอนต้องแจ้งการโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้กรมสรรพากรทราบล่วงหน้าก่อนวันที่โอนไม่น้อยกว่า 15 วัน
ข้อ 3 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ที่บริษัทผู้รับโอนได้รับทรัพย์สินจากบริษัทผู้โอน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่บริษัทผู้โอนใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นเท่านั้น
ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538
จัตุมงคล โสณกุล
อธิบดีกรมสรรพากร
Article Number: 6530
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/ป-57-2538-เรื่อง-แนวทางการพิจารณา-กรณีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แยกธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันเป็นสองบริษัท-6530.html