ป. 40/2537 เรื่อง การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในสถานประกอบการโรงแรม


(1) กรณีลูกค้าชำระค่าบริการและหรือค่าสินค้าเป็นเงินสด หรือด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ใช้ใบเรียกเก็บค่าบริการที่ออกให้ ณ แผนกบริการส่วนหน้า (Guest Folio) หรือใบเรียกเก็บค่าบริการที่ออกให้ ณ แผนกขายสินค้าหรือให้บริการอื่น ๆ (Guest Check หรือ Long Bill) ซึ่งมีรายการอย่างน้อย ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2536 เป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ โดยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจะต้องบันทึกคำว่า “เงินสด” หรือ “จ่ายแล้ว” หรือ “CASH” หรือ “PAID” หรือ “CARD” หรือ ระบุชื่อบัตรเครดิต ไว้ในใบเรียกเก็บค่าบริการด้วย

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 40/2537

เรื่อง การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในสถานประกอบการโรงแรม


เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจหรือแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนปฏิบัติสำหรับกรณีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินในสถานประกอบการโรงแรม ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.34/2536 เรื่อง การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ณ สถานที่ให้บริการบางประเภทในสถานประกอบการโรงแรม ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2536

ข้อ 2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการให้บริการประเภทกิจการโรงแรม ซึ่งใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ปฏิบัติดังนี้

(1) กรณีลูกค้าชำระค่าบริการและหรือค่าสินค้าเป็นเงินสด หรือด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ใช้ใบเรียกเก็บค่าบริการที่ออกให้ ณ แผนกบริการส่วนหน้า (Guest Folio) หรือใบเรียกเก็บค่าบริการที่ออกให้ ณ แผนกขายสินค้าหรือให้บริการอื่น ๆ (Guest Check หรือ Long Bill) ซึ่งมีรายการอย่างน้อย ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2536 เป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ โดยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจะต้องบันทึกคำว่า “เงินสด” หรือ “จ่ายแล้ว” หรือ “CASH” หรือ “PAID” หรือ “CARD” หรือ ระบุชื่อบัตรเครดิต ไว้ในใบเรียกเก็บค่าบริการด้วย

(2) กรณีลูกค้าชำระค่าบริการและหรือค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อ

(ก) หากเป็นลูกค้าซึ่งเข้าพักในห้องพักของโรงแรมอยู่แล้ว ให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินบันทึกคำว่า “ลูกค้าโรงแรม" หรือ “GUEST” หรือ “HOTELGUEST” หรือ ระบุชื่อลูกค้าและหมายเลขห้องพัก ไว้ในใบเรียกเก็บค่าบริการ และในกรณีที่เป็นใบเรียกเก็บค่าบริการซึ่งออกให้ ณ แผนกขายสินค้าหรือให้บริการอื่น ๆ (Guest Check หรือ Long Bill) ให้จัดส่งใบเรียกเก็บค่าบริการ (Guest Check หรือ Long Bill) นั้นไปยังแผนกบริการส่วนหน้า (Front Office) เพื่อการเรียกเก็บเงินต่อไป โดยจะยังไม่ถือว่าใบเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษี

(ข) หากมิได้เป็นลูกค้าซึ่งเข้าพักในห้องพักของโรงแรม ให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินบันทึกคำว่า “เงินเชื่อ” หรือ “CREDIT” หรือ “CITYLEDGER” ไว้ในใบเรียกเก็บค่าบริการ และจัดส่งใบเรียกเก็บค่าบริการนั้นไปยังแผนกบัญชี (Back Office) เพื่อการเรียกเก็บเงินต่อไป โดยจะยังไม่ถือว่าใบเรียกเก็บค่าบริการ ดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษี

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องบันทึกหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อตาม (1) และหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการตาม (2) เรียงตามลำดับต่อกันไปเป็นชุดเดียวกัน หรือจะแยกหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการออกเป็นคนละชุดต่างหากจากกันก็ได้ แต่ทั้ง 2 กรณีจะต้องมีรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงความแตกต่างระหว่างหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อและหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการด้วย

(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินบันทึกรายการการให้บริการและการขายสินค้าตามใบกำกับภาษีอย่างย่อและใบเรียกเก็บค่าบริการไว้ในม้วนกระดาษต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) และต้องแสดงรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงความแตกต่างระหว่างรายการการให้บริการและการขายสินค้าตามใบกำกับภาษีอย่างย่อและใบเรียกเก็บค่าบริการด้วย

(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินทำการสรุปรายงานการให้บริการและการขายสินค้าประจำวัน โดยให้แยกมูลค่ารวมของการให้บริการและการขายสินค้าตามใบกำกับภาษีอย่างย่อและใบเรียกเก็บค่าบริการออกต่างหากจากกัน

(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเก็บม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) ตาม (4) และรายงานตาม (5) ไว้ ณ สถานประกอบการเป็นเวลา 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้

“ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการให้บริการประเภทกิจการโรงแรม ซึ่งใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดคอมพิวเตอร์ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์อื่นเพื่อประกอบกันเป็นระบบ POSS (Point of Sale System) หรือใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้า ECR (Electronic Cash Register) ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นเพื่อประกอบกันเป็นระบบ POSS ตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2536 สำหรับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ สามารถใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องมีกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) ก็ได้ หากมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้"

(แก้ไขโดย ป.43/2537 ใช้บังคับ 20 มกราคม 2537 เป็นต้นไป)

(1) เป็นโรงแรมที่มีรายรับจากการให้บริการและการขายสินค้าทุกอย่างรวมกันไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา หรือประมาณการรายรับไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปีในกรณีที่เป็นโรงแรมที่ตั้งขึ้นใหม่หรือจะตั้งขึ้นใหม่ หรือถ้ามีรายรับน้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปีจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

(2) ต้องแจ้งภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมและชื่อของโปรแกรมที่ใช้ รวมทั้งระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขายและหรือผู้รับจ้างพัฒนาโปรแกรมต่อกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

( 3 ) ต้องส่งมอบคู่มือพร้อมทั้งผังระบบงานและวิธีการใช้งานต่อกรมสรรพากร

(4) ต้องมีโปรแกรมที่สามารถสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง (Central Processing Unit) ของแต่ละสถานประกอบการให้พิมพ์ข้อมูลตาม (6) ได้ทันทีเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรร้องขอ และต้องพิมพ์ข้อมูลได้เป็นรายเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องตั้งแต่ช่วงเวลาที่พิมพ์ครั้งล่าสุดจนถึงเวลาที่เจ้าพนักงานร้องขอ

(5) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำหรับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามข้อ 2 ทุกกรณี เว้นแต่ในส่วนที่กำหนดให้ต้องกระทำในม้วนกระดาษต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) หรือส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 3 แล้ว

(6) ต้องจัดทำรายงานการให้บริการและการขายสินค้าไว้ในกระดาษต่อเนื่องของระบบคอมพิวเตอร์อย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ และต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(6.1) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง เรียงตามลำดับของเลขรหัสประจำเครื่องที่ได้รับจากกรมสรรพากร เว้นแต่ กรณีที่เป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ได้มาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2537 และไม่สามารถออกหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ก็ให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินนั้นบันทึกหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการซึ่งตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์แทนก็ได้ และอย่างน้อยจะต้องบันทึกตัวเลข 3 หลักสุดท้ายของหมายเลขลำดับดังกล่าวเพื่อใช้เป็นหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการให้บริการและหรือขายสินค้าเป็นเงินเชื่อด้วย ให้บันทึกหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการซึ่งกำหนดขึ้นตามข้อ 2(3) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคแรกด้วย

(6.2) หมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการซึ่งโรงแรมกำหนดขึ้นเพื่อการควบคุมภายใน สำหรับกรณีของโรงแรมที่ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ณ แผนกบริการส่วนหน้า (Front Office) ด้วย ให้แยกหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการซึ่งออกที่แผนกบริการส่วนหน้า (Folio Number) และหมายเลขลำดับของใบเรียกเก็บค่าบริการซึ่งออก ณ แผนกขายสินค้าหรือให้บริการอื่น ๆ (Check Number) ออกต่างหากจากกัน

(6.3) รายการการให้บริการและการขายสินค้าประจำวันซึ่งจะบันทึกเป็นยอดสรุปของใบกำกับภาษีอย่างย่อหรือใบเรียกเก็บค่าบริการแต่ละใบ หรือจะบันทึกยอดรวมเป็นรายวันก็ได้ แต่จะต้องระบุหรือมีรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ารายการใดเป็นการให้บริการหรือการขายสินค้า

(6.4) มูลค่ารวมของการให้บริการและการขายสินค้าที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ และตามใบเรียกเก็บค่าบริการ

(6.5) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของการให้บริการและขายสินค้าตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

(6.6) มูลค่าของบริการและสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

(6.7) วัน เดือน ปี และเวลาที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเว้นแต่กรณีที่เป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินซึ่งได้มาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2537 และไม่สามารถบันทึกเวลาได้ ก็ไม่ต้องบันทึกเวลาที่ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว

(6.8) ชื่อหรือชื่อย่อหรือรหัสของพนักงานเก็บเงินในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินสามารถกระทำได้

(6.9) การรับชำระราคาค่าบริการและหรือค่าสินค้า ให้ระบุว่าเป็นเงินสดหรือบัตรเครดิต หรือเป็นเงินเชื่อ

(6.10) เลขรหัสประจำเครื่องซึ่งได้รับจากกรมสรรพากร

(7) ต้องเก็บรายงานตาม (6) ไว้ ณ สถานประกอบการเป็นเวลา 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้

ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการให้บริการประเภทกิจการโรงแรม ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินโดยไม่มีกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่อง (Daily Transaction Journal) ตามข้อ 3 สำหรับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามมาตรา 86/6 หรือมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องแจ้งคุณสมบัติและข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 พร้อมกับการยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อแล้ว ให้แจ้งคุณสมบัติและข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินโดยไม่มีกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) นั้นในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยให้แจ้ง ณ หน่วยงานสรรพากร ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) ฯ ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536

คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ 18 มกราคมพ.ศ. 2537

จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร



Article Number: 6544
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022

Online URL: https://www.paseetax.com/article/ป-40-2537-เรื่อง-การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในสถานประกอบการโรงแรม-6544.html