มาตรา 65 จตุทศ ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่บริษัทซึ่งได้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วม
ให้นำบทนิยามคำว่า “ปิโตรเลียม” “กิจการปิโตรเลียม” “เงินได้” “จำหน่าย” “ค่าภาคหลวง” และ “บริษัท” ในมาตรา 65 ปัณรส มาใช้แทนบทนิยามของคำเหล่านั้นในมาตรา 4 และให้นำความในมาตรา 65 โสฬส มาตรา 65 สัตตรส มาตรา 65 อัฏฐารส มาตรา 65 เอกูนวีสติ มาตรา 65 วีสติ และมาตรา 65 เอกวีสติ มาใช้บังคับแทนความในมาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 26 ตามลำดับ สำหรับบริษัทตามวรรคหนึ่ง
มิให้นำคำนิยาม “ราคามาตรฐาน” ในมาตรา 4 และความในมาตรา 18 มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่งให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับบริษัทตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ และที่ใดบัญญัติถึง “ปิโตรเลียม” “กิจการปิโตรเลียม” “เงินได้” “จำหน่าย” “ค่าภาคหลวง” และ “บริษัท” ให้หมายถึง “ปิโตรเลียม” “กิจการปิโตรเลียม” “เงินได้” “จำหน่าย” “ค่าภาคหลวง” และ “บริษัท” ตามลำดับตามหมวดนี้ และที่ใดที่อ้างถึงมาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 25 และมาตรา 26 ให้หมายถึงมาตรา 65 โสฬส มาตรา 65 สัตตรส มาตรา 65 อัฏฐารส มาตรา 65 เอกูนวีสติ มาตรา 65 วีสติ และมาตรา 65 เอกวีสติ ตามลำดับตามหมวดนี้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 ปัณรส ในหมวดนี้
“องค์กรร่วม” หมายความว่า องค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533
“พื้นที่พัฒนาร่วม” หมายความว่า “พื้นที่พัฒนาร่วมตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533
“ปิโตรเลียม” หมายความว่า น้ำมันดิบหรือไฮโดรคาร์บอนอื่นใด และก๊าซธรรมชาติซึ่งอยู่ในสภาพอันเป็นธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลวที่ปากหลุม รวมทั้งหินบิทูเมนและทรัพยากรอื่นที่สะสมอยู่เป็นชั้น ๆ ซึ่งสามารถจะสกัดน้ำมันออกมาได้
“กิจการปิโตรเลียม” หมายความว่า กิจการปิโตรเลียมตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต และให้หมายความรวมถึงการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวไม่ว่าการโอนนั้นจะเป็นปกติธุระหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการหรือการโอนดังกล่าวด้วย
“เงินได้” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาอันอาจคำนวณได้เป็นเงินและหมายความรวมถึงภาษีอากรที่มีผู้อื่นออกแทนให้
“จำหน่าย” หมายความว่า ส่งน้ำมันดิบส่วนที่เป็นของบริษัทไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันของบริษัท ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อกิจการดังกล่าวของบริษัท นำปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของบริษัทไปใช้ในกิจการใด ๆ ของบริษัท โดยไม่มีการขาย หรือโอนปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของบริษัทโดยไม่มีค่าตอบแทน
“ค่าภาคหลวง” หมายความว่า ค่าภาคหลวงที่บริษัทต้องชำระให้แก่องค์กรร่วมตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533
“บริษัท” หมายความว่า ผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ทำกับองค์กรร่วมไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม
“สัญญาแบ่งปันผลผลิต” หมายความว่า สัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ออกตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 โสฬส บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นราย
รอบระยะเวลาบัญชีในอัตราดังต่อไปนี้ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม
รอบระยะเวลาบัญชีแรกถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่แปด ร้อยละ 0
รอบระยะเวลาบัญชีที่เก้าถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่สิบห้า ร้อยละ 10
รอบระยะเวลาบัญชีที่สิบหกเป็นต้นไป ร้อยละ 20
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 สัตตรส ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราดังต่อไปนี้ของเงินได้หลังจากต้นทุนตามมาตรา 33 แล้ว
ในกรณีที่มีการโอนในรอบระยะเวลาบัญชีแรกถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่แปด ร้อยละ 0
ในกรณีที่มีการโอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่เก้าถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่สิบห้า ร้อยละ 10
ในกรณีที่มีการโอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิบหกเป็นต้นไป ร้อยละ 20
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 อัฏฐารส การคำนวณกำไรสุทธิ ให้นำเอาจำนวนดังต่อไปนี้มารวมเป็นรายได้
(1) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม
(2) มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย
(3) ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน
(4) ยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 เอกูนวีสติ ภายใต้บังคับมาตรา 65 วีสติ และมาตรา 65 เอกวีสติ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักรและภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง
(1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน
(2) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต
(3) ค่ารับรอง
(4) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี
(5) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ
(6) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน
(7) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
(8) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้ว สำหรับรายได้ตามมาตรา 65 อัฏฐารส (3)
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 วีสติ รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็น ให้รวมถึง
(1) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน
รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 65 เอกวีสติ (1) วรรคสอง และรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 65 เอกวีสติ (1) วรรคสอง ด้วย
(2) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หา หรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค
(3) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ
(4) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท
(5) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 เอกูนวีสติ (5)
(6) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ
(7) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้
(8) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
(9) ดอกเบี้ย
(10) ค่าปรับทางอาญา
(11) ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียม ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 เอกวีสติ การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี
รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่มีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลิกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกันก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรกก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือก ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไป ให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน
รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้
(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก
(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใด ๆ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี
(2) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัท ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
(3) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา 65 อัฏฐารส (1) และมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายตามมาตรา 65 อัฏฐารส (2) ให้คำนวณตามราคาตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด
(4) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น
(5) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตราและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
(6) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียม บริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้
(7) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง(
7/1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการคำนวณรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายประเภทได้
(เพิ่มโดยมาตร 9 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
(7/2) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(เพิ่มโดยมาตร 9 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
(8) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุนถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (10) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (5) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร
(9) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้หรือจะคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่
การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิธีการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้
(10) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น
ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)
(11) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยหลังสุดที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)
(12) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
หนี้สูญรายใดได้นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้ว หากได้รับชำระในภายหลังก็มิให้นำมาคำนวณเป็นรายได้อีก(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561)
(13) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญจะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ
(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท
(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ
(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ
(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ
(14) ในกรณีที่บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 ด้วย ให้บริษัทดังกล่าวคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิสำหรับแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว และแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน
การคำนวณรายได้และรายจ่ายสำหรับแปลงสำรวจตามวรรคหนึ่ง ถ้ารายได้และรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541)
มาตรา 65 เอกวีสติ/1 ในกรณีที่บริษัทซึ่งได้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมตามหมวดนี้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา 8 การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิของบริษัทดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้คำนวณโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้นตามมาตรา 65 เอกวีสติ แต่มิให้นำมาตรา 65 เอกวีสติ (8) (10) และ (11) มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการดังนี้แทน
(1) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานด้วยวิธีการตาม (2) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตามมาตรา 65 เอกวีสติ (5) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้น ให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร
(2) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้น
ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้คำนวณเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงาน หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
(3) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราสกุลอื่นที่มิใช่เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
(4) ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันเนื่องมาจากการคำนวณตามมาตรา 8/1 หรือจากการคำนวณมูลค่าของเงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษีตามมาตรา 42 มิให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้
(เพิ่มโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562
Article Number: 6925
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/หมวด-7-ตรี-บทบัญญัติเฉพาะเขตพื้นที่พัฒนาร่วม-6925.html