มาตรา 20 ภายใต้บังคับมาตรา 43 ทวิ บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)
มาตรา 21 ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ถ้าบริษัทผู้รับโอนจ่ายเงินได้ที่เป็นเงินค่าสิทธิ เงินปี หรือเงินได้ประจำเนื่องจากการโอนนั้น โดยเงินดังกล่าวไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ให้บุคคลซึ่งได้รับเงินได้นั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินได้หลังจากหักต้นทุนตามมาตรา 33 แล้ว
มาตรา 22 การคำนวณกำไรสุทธิ ให้นำเอาจำนวนดังต่อไปนี้มารวมเป็นรายได้
(1) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม
(2) มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย
(3) มูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง
(4) ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมซึ่งอาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน
(5) ยอดเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม
ในกรณีการโอนสัมปทานตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ตาม (4) ให้ถือมูลค่าตามบัญชีครั้งสุดท้ายของบริษัทผู้โอนในวันที่โอน
มาตรา 23 รายได้ตามมาตรา 22 ให้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นได้
มาตรา 24 ภายใต้บังคับมาตรา 25 และมาตรา 26 รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร และภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง
(1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน
(2) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิต
(3) ค่ารับรอง
(4) หนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชี
(5) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ
(6) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน
(7) ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียม ไม่ว่าจะชำระเป็นตัวเงินหรือปิโตรเลียม
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)
(8) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
(9) ราคาทุนของทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ที่หักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนแล้ว สำหรับรายได้ตามมาตรา 22 (4)
(10) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)
มาตรา 25 รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้รวมถึง
(1) รายจ่ายที่เป็นทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน
รายจ่ายที่เป็นทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมีผลต่อกิจการเป็นเวลาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และให้หมายความรวมถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 26 (1) วรรคสอง และรายจ่ายตามปกติและจำเป็นที่จ่ายไปก่อนรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 26 (1) วรรคสองด้วย
(2) รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หาหรือรายจ่ายที่เป็นการบริจาค
(3) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ
(4) รายจ่ายเพื่อตอบแทนทุนหรือทรัพย์สินของบริษัท
(5) เงินสำรองหรือเงินสมทบกองทุนใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 (5)
(6) ภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่บริษัทต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้หรือที่ต้องเสียในต่างประเทศ
(7) รายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการหามาซึ่งเงินได้อันไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้
(8) รายจ่ายที่บริษัทพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
(9) (ยกเลิก)
(ยกเลิกโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)
(10) ดอกเบี้ย
(11) ค่าธรรมเนียมการสงวนพื้นที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
(12) ค่าปรับทางอาญา
มาตรา 26 การคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิตามหมวดนี้ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) กำไรสุทธิต้องคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี
รอบระยะเวลาบัญชีแรก ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ต้องเสียค่าภาคหลวงเป็นครั้งแรก แต่ถ้าอธิบดีอนุมัติให้บริษัทเลือกนับแต่วันใดวันหนึ่งของเดือนเดียวกัน ก่อนวันที่บริษัทขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้นเป็นครั้งแรก ก็ให้เริ่มนับแต่วันที่บริษัทเลือก ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไปให้เริ่มนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีก่อน
รอบระยะเวลาบัญชีให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้จะมีกำหนดน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้
(ก) บริษัทถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีแรก
(ข) ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการปิโตรเลียม ให้ถือวันเลิกกิจการปิโตรเลียมเป็นวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
(ค) บริษัทได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
ในกรณีที่บริษัทโอนสิทธิใด ๆ ตามสัมปทานก่อนวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเนื่องจากการโอนสิทธิเช่นว่านั้น ให้ถือวันโอนเป็นวันแรกและวันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี และในระยะเวลาตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจนถึงวันเริ่มรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามวรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีรอบระยะเวลาบัญชี
(2) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้ รายจ่ายและกำไรสุทธิของบริษัท ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมซึ่งใช้อยู่เป็นปกติในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
(3) ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (1) ให้คำนวณตามราคาที่ขายได้จริงซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม แต่ไม่ให้ปรับปรุงราคาเนื่องจากความแตกต่างของค่าขนส่งตามกฎหมายนั้น เว้นแต่กรณีน้ำมันดิบที่ส่งออก ถ้าราคาที่ขายได้จริงต่ำกว่าราคามาตรฐานให้คำนวณตามราคามาตรฐาน
(4) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (2) ให้คำนวณตามราคาตลาดซึ่งใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมแต่ไม่ให้ปรับปรุงราคาเนื่องจากความแตกต่างของค่าขนส่งตามกฎหมายนั้น
(5) มูลค่าของปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (3) ให้คำนวณตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมที่เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง
(6) ถ้าบริษัทหนึ่งที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมหรือการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนได้เสียนั้น แต่ค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียให้แก่บริษัทอื่นที่มีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นเงินได้ของบริษัทอื่นนั้น
(7) ค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุน ให้หักได้เฉพาะตามประเภท อัตราและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
(8) ค่าแรงงาน ค่าบริการ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง และรายจ่ายทำนองเดียวกันอย่างอื่นที่ใช้ในการเจาะเพื่อสำรวจหรือเพื่อผลิตปิโตรเลียม บริษัทจะถือเป็นรายจ่ายที่เป็นทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายจ่ายนั้นก็ได้
(9) ค่ารับรอง ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
(9/1) ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในการเช่าทรัพย์สิน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการคำนวณรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายประเภทได้
(เพิ่มโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
(9/2) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(เพิ่มโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
(10) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้า ให้ถือตามราคาทุน ถ้าราคาทุนเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยเช่นเดียวกับวิธีการตาม (12) ราคาทุนดังกล่าวอาจลดลงได้โดยการหักค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนตาม (7) แต่ห้ามมิให้ตีราคาลดลง ส่วนการตีราคาเพิ่มขึ้นให้กระทำได้เท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร
(11) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะคำนวณตามราคาทุนก็ได้ หรือจะคำนวณตามราคาทุน หรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าก็ได้ และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่
การคำนวณราคาทุนตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้
(12) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่ได้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศนั้น
ในกรณีที่มิได้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในรอบระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนเดือนที่ได้รับมาหรือจ่ายไป โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยรายวันที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)
(13) เงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณมูลค่าเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหรือขายในวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทร้องขอ อธิบดีอาจอนุมัติให้คำนวณโดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้บริษัทใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่บริษัทร้องขอแล้ว ให้บริษัทถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)
(14) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561)
(15) เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ จะถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
(ก) กองทุนได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ
(ข) เงินกองทุนต้องแยกไว้ต่างหากให้พ้นจากการครอบครองของบริษัท
(ค) เงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้นอกจากเพื่อประโยชน์แก่กองทุนโดยเฉพาะ
(ง) เงินสมทบกองทุนต้องไม่กลับคืนมาเป็นของบริษัทอีก และ
(จ) เงินสมทบกองทุนต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่มีระเบียบว่าด้วยกองทุนกำหนดไว้เป็นหนังสือ
(16) ในกรณีที่บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจหลายแปลง โดยแปลงสำรวจบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 และบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ให้บริษัทดังกล่าวคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิสำหรับแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินั้น ๆ เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน
การคำนวณรายได้และรายจ่ายสำหรับแปลงสำรวจตามวรรคหนึ่ง ถ้ารายได้และรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(เพิ่มโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)
มาตรา 27 รายได้เมื่อได้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นออกแล้ว ผลลัพธ์เป็นผลกำไรประจำปีหรือผลขาดทุนประจำปี แล้วแต่กรณี
มาตรา 28 ในกรณีที่มีผลกำไรประจำปี ให้หักลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้
(1) ผลขาดทุนประจำปีของรอบระยะเวลาบัญชีใด ๆ ในสิบรอบระยะเวลาบัญชี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน
ผลขาดทุนประจำปี เมื่อได้นำไปหักลดหย่อนในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้วหากยังมีผลขาดทุนประจำปีคงเหลือเป็นจำนวนเท่าใด ให้นำไปหักลดหย่อนในรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปได้เพียงเท่าจำนวนที่เหลือนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบรอบระยะเวลาบัญชี
(2) เงินบริจาครวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของผลกำไรประจำปีหลังจากหักลดหย่อนตาม (1) แล้ว ทั้งนี้ เฉพาะเงินบริจาคดังต่อไปนี้
(ก) เงินที่บริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ
(ข) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 29 ในกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ให้บริษัทผู้รับโอนถือเอาผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอนเพื่อประโยชน์ในการหักลดหย่อนตามมาตรา 28 (1) นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนเป็นต้นไปได้เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการโอนกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560)
มาตรา 30 ผลกำไรประจำปีเมื่อได้หักลดหย่อนตามมาตรา 28 ออกแล้ว เหลือเท่าใดเป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 20
มาตรา 31 (ยกเลิก)
(ยกเลิกโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532)
มาตรา 32 ในกรณีที่บริษัทผู้ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานขายน้ำมันดิบให้แก่บริษัทผู้ซื้อเพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร ถ้าบริษัทผู้ซื้อต้องเสียภาษีตามมาตรา 20 เป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทผู้ขายนำภาษีจำนวนนั้นมาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่บริษัทผู้ขายต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่บริษัทผู้ขายต้องเสีย
ในกรณีที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบในราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานและขายไปในราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน เครดิตที่บริษัทผู้ขายจะหักตามวรรคหนึ่งต้องไม่เกินส่วนของจำนวนภาษีที่บริษัทผู้ซื้อเสียสำหรับผลต่างระหว่างราคามาตรฐานกับราคาที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบ
ในกรณีที่บริษัทผู้ซื้อซื้อน้ำมันดิบในราคามาตรฐานหรือราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐาน ไม่ให้หักเครดิตตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 33 การหักต้นทุนจากเงินได้ตามมาตรา 21 ให้หักได้เพียงเท่าผลขาดทุนประจำปีคงเหลือตามมาตรา 28 (1) ของบริษัทผู้โอนกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
Article Number: 6929
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/หมวด-2-ภาษีเงินได้และการคำนวณกำไรสุทธิ-6929.html