หมวด 6 อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน


มาตรา 56 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อ

(1) ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ภายในเวลาที่กำหนด

(2) ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป

(3) บริษัทหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ตอบคำถามของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจไต่สวนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่สามารถแสดงหลักฐานในการคำนวณภาษี หรือ

(4) บริษัทมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือมิได้นำส่งภาษีโดยถูกต้องตามหมวด 5

การประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม หรือการปฏิบัติการอื่นใดของเจ้าพนักงานประเมินตามพระราชบัญญัตินี้กับบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานซึ่งมิใช่เงินตราไทยตามมาตรา 8 ให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว

(เพิ่มโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562)

มาตรา 57 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 56 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ

(1) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการเงินได้ตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อมิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้

(2) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการเงินได้หรือในเอกสารที่ยื่นประกอบแบบแสดงรายการเงินได้เพื่อให้ถูกต้อง

(3) ปรับปรุงจำนวนรายได้และรายจ่ายของบริษัทเพื่อให้ได้จำนวนที่บริษัทควรได้รับและจ่ายถ้าหากบริษัทได้ดำเนินการโดยอิสระ แต่บริษัทมิได้ดำเนินการโดยอิสระเพราะมีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการกับบริษัทหรือบุคคลอื่น

(4) กำหนดราคาหรือมูลค่าของทรัพย์สินหรือกิจการปิโตรเลียมตามราคาตลาดในวันโอน เมื่อการโอนทรัพย์สินหรือกิจการปิโตรเลียมนั้นไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(5) กำหนดกำไรสุทธิหรือเงินได้ตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้องเมื่อมีกรณีตามมาตรา 56 (3)

มาตรา 58 ในการดำเนินการตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ

(1) ออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายและออกหมายเรียกพยานมาให้ถ้อยคำ

(2) ออกคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายและออกคำสั่งให้พยานตอบคำถามเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีหลักฐาน รายงานหรือเอกสารอื่นอันควรแก่กรณีมาตรวจสอบไต่สวน

ทั้งนี้ ต้องให้เวลาแก่ผู้รับหมายเรียกหรือคำสั่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือคำสั่งนั้น

มาตรา 59 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งให้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีอำนาจประเมินภาษี สั่งให้เสียภาษีหรือนำส่งภาษีก่อนกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 60 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินแล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังบริษัทหรือผู้มีหน้าที่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ เว้นแต่การประเมินตามมาตรา 56 (3) ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์มาใช้บังคับ

มาตรา 61 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง หรือวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่อธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปตามมาตรา 5 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

(2) ห้าปีนับแต่วันที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการภายหลังวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาดังกล่าวใน (1) แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ

(3) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเงินได้หรือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในกรณีที่บริษัทมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแบบแสดงรายการเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือการนำส่งภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการโดยแสดงจำนวนรายได้หรือภาษีที่ต้องนำส่งขาดไปเกินร้อยละ 25 ของจำนวนรายได้หรือภาษีที่ต้องนำส่งในแบบแสดงรายการ



Article Number: 6934
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022

Online URL: https://www.paseetax.com/article/หมวด-6-อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน-6934.html