พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน


พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจาก
เงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)
พ.ศ. 2502
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2502
เป็นปีที่ 14 ในรัชกาลปัจจุบัน


                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                    โดยที่เป็นการสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรเสียใหม่

                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 แห่งประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 และมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไป

                    มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502"

                    มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                    มาตรา 3  ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2496 และพระราชกฤษฎีกากำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2497

                    มาตรา 4  อัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ถึงกำหนดเวลายื่นรายการในปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป

                    "มาตรา 4 ทวิ  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 เฉพาะที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 634) พ.ศ.2560 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป)

                    มาตรา 5  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

                    (1) การให้เช่าทรัพย์สิน

                          (ก) ถ้าเป็นบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

                          (ข) ถ้าเป็นที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 20 ในกรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

                          (ค) ถ้าเป็นที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรมในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 15 ในกรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

                          (ง) ถ้าเป็นยานพาหนะ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30 ในกรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

                          (จ) ถ้าเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 10 ในกรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

                    เว้นแต่ผู้มีเงินได้ตาม (ก) ถึง (จ) จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์

                    (2) การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 20

                    (3) การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ร้อยละ 20

                    "มาตรา 6  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังต่อไปนี้

                    (1) เงินได้จากวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปะให้หักค่าใช้จ่ายในการเหมาร้อยละ 60

                    (2) เงินได้จากวิชาชีพอิสระนอกจาก (1) ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30

                    เว้นแต่ผู้มีเงินได้ตาม (1) หรือ (2) จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2517 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้นก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฏีกา (ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2520 เป็นต้นไป)

                    "มาตรา 7  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมาร้อยละ 60 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป)

                    "มาตรา 8  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมา ดังต่อไปนี้

                    (1) การเก็บค่าต๋งหรือค่าเกมจากการพนัน การแข่งขันหรือการเล่นต่าง ๆ ร้อยละ 60

                    (2) การถ่าย ล้าง อัด หรือขยายรูป ภาพยนตร์ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60

                    (3) การทำกิจการคานเรือ อู่เรือ หรือซ่อมเรือที่มิใช่ซ่อมเครื่องจักร เครื่องกล ร้อยละ 60

                    (4) การทำรองเท้า และเครื่องหนังแท้หรือหนังเทียม รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60

                    (5) การตัด เย็บ ถัก ปักเสื้อผ้าหรือสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60

                    (6) การทำ ตกแต่ง หรือซ่อมแซมเครื่องเรือน รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60

                    (7) การทำกิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร หรือการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มจำหน่าย ร้อยละ 60

                    (8) การดัด ตัด แต่งผม หรือตกแต่งร่างกาย ร้อยละ 60

                    (9) การทำสบู่ แชมพู หรือเครื่องสำอาง ร้อยละ 60

                    (10) การทำวรรณกรรม ร้อยละ 60

                    (11) การค้าเครื่องเงิน ทอง นาก เพชร พลอย หรืออัญมณีอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60

                    (12) การทำกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเฉพาะที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวมทั้งการรักษาพยาบาลและการจำหน่ายยา ร้อยละ 60

                    (13) การโม่หรือย่อยหิน ร้อยละ 60

                    (14) การทำป่าไม้ สวนยาง หรือไม้ยืนต้น ร้อยละ 60

                    (15) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ ร้อยละ 60

                    (16) การทำบล็อก และตรา การรับพิมพ์ หรือเย็บสมุด เอกสาร รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60

                    (17) การทำเหมืองแร่ ร้อยละ 60

                    (18) การทำเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 60

                    (19) การทำเครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบ เครื่องซีเมนต์ หรือดินเผา ร้อยละ 60

                    (20) การทำหรือจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ร้อยละ 60

                    (21) การทำน้ำแข็ง ร้อยละ 60

                    (22) การทำกาว แป้งเปียกหรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกันและการทำแป้งชนิดต่าง ๆ ที่มิใช่เครื่องสำอาง ร้อยละ 60

                    (23) การทำลูกโป่ง เครื่องแก้ว เครื่องพลาสติก หรือเครื่องยางสำเร็จรูป ร้อยละ 60

                    (24) การซักรีด หรือย้อมสี ร้อยละ 60

                    (25) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต ร้อยละ 60

                    (26) รางวัลที่เจ้าของม้าได้จากการส่งม้าเข้าแข่ง ร้อยละ 60

                    (27) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากหรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝาก ร้อยละ 60

                    (28) การรมยาง การทำยางแผ่น หรือยางอย่างอื่นที่มิใช่ยางสำเร็จรูป ร้อยละ 60

                    (29) การฟอกหนัง ร้อยละ 60

                    (30) การทำน้ำตาล หรือน้ำเหลืองของน้ำตาล ร้อยละ 60

                    (31) การจับสัตว์น้ำ ร้อยละ 60

                    (32) การทำกิจการโรงเลื่อย ร้อยละ 60

                    (33) การกลั่นหรือหีบน้ำมัน ร้อยละ 60

                    (34) การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ร้อยละ 60

                    (35) การทำกิจการโรงสีข้าว ร้อยละ 60

                    (36) การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ ร้อยละ 60

                    (37) การอบหรือบ่มใบยาสูบ ร้อยละ 60

                    (38) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ร้อยละ 60

                    (39) การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ร้อยละ 60

                    (40) การทำนาเกลือ ร้อยละ 60

                    (41) การขายเรือกำปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวาง ตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ ร้อยละ 60

                    (42) การขายที่ดินเงินผ่อนหรือการให้เช่าซื้อที่ดิน ร้อยละ 60

                    การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ

                          (ก) สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60

                          (ข) สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40

                    การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป)
                    "เว้นแต่ผู้มีเงินได้จากกิจการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2517 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้นก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 70) พ.ศ.2520 มาตรา 4 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี พ.ศ. 2520 เป็นต้นไป)

                    "มาตรา 8 ทวิ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่10) พ.ศ. 2496 ที่มิได้ระบุไว้ในมาตรา 8 ให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2517 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2506 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
(แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 155 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2515 เป็นต้นไป)

                    มาตรา 9  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
 

 

จอมพล ส. ธนะรัตน์

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

         นายกรัฐมนตรี

 


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท มีค่าใช้จ่ายมากน้อยต่างกันทั้งนั้น ถ้ากำหนดค่าใช้จ่ายให้หักเป็นการเหมาตามตัวทุกประเภทแล้ว ย่อมไม่เป็นธรรม สมควรยอมให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินบางประเภทตามความจำเป็นได้

 

(ร.จ.เล่มที่ 76 ตอนที่ 116 วันที่ 12 ธันวาคม 2502)



Article Number: 7225
Author: Mon, Oct 3, 2022
Last Updated: Thu, Oct 27, 2022

Online URL: https://www.paseetax.com/article/พระราชกฤษฎีกา-40;ฉบับที่-11-41;-พ-ศ-2502-การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน-7225.html