พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 290) พ.ศ. 2538 ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำบางกรณี
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 290) พ.ศ. 2538 ----------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2538 เป็นปีที่ 50 ในรัชกาลปัจจุบัน
|
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ได้รับจากธนาคารในบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 290) พ.ศ. 2538”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(3)(ก) และมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ประเภทเงินฝากประจำทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังนี้
(1) ต้องเป็นบัญชีเงินฝากประจำที่มีสมุดเงินฝากโดยเฉพาะเพื่อการเสียภาษีอัตราพิเศษตามพระราชกฤษฎีกานี้แยกต่างหากจากเงินฝากประเภทอื่น และระบุข้อความว่าเป็นบัญชีเงินฝากประจำตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
(2) ต้องเป็นบัญชีเงินฝากประจำประเภทที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝากแล้วได้ถอนเงินฝากนั้น ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) เพื่อใช้สำหรับการศึกษาของตนเองหรือครอบครัว
(ข) เพื่อใช้สำหรับที่อยู่อาศัยของตนเองหรือครอบครัว หรือ
(ค) เมื่อผู้ฝากมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
(3) การนับอายุเงินฝากตาม (2) ให้นับจากยอดเงินฝากแต่ละคราว
(4) ต้องไม่นำเงินฝากตาม (2) ไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินของตนเองหรือบุคคลอื่น
(5) กรณีที่มีการถอนเงินฝากตามหลักเกณฑ์ตาม (2) ผู้ฝากต้องลงนามรับรองว่าเป็นการถอนที่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตาม (2) และให้ธนาคารเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 4 ในกรณีที่มีการถอนเงินฝากก่อนครบกำหนดระยะเวลาการฝากตามมาตรา 3(2) หรือถอนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝาก แต่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 3(2) ให้ถือว่าเป็นกรณีที่ธนาคารหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายขาดไป สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำส่วนที่ได้จ่ายไปแล้ว และให้ธนาคารนำส่งภาษีส่วนที่ขาด พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีส่วนที่ขาด โดยไม่มีเบี้ยปรับ ให้ธนาคารนำส่งภาษีและเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งพร้อมยื่นรายการ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่มีการผิดหลักเกณฑ์อันเป็นเหตุให้ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้ ?
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
|
บรรหาร ศิลปอาชา
|
นายกรัฐมนตรี
|
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรประเภทเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยเมื่อครบกำหนดเวลาฝาก 5 ปีแล้ว ให้ถอนเงินฝากได้เฉพาะเพื่อใช้สำหรับการศึกษา หรือเพื่อใช้สำหรับที่อยู่อาศัย หรือเป็นการถอนเมื่อผู้ฝากมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อเป็นการสนับสนุนการออมระยะยาว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
|
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 112 ตอนที่ 57 ก. ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2538)
Article Number: 7250
Author: Wed, Oct 19, 2022
Last Updated: Wed, Oct 19, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/พระราชกฤษฎีกาฯ-40;ฉบับที่-290-41;-พ-ศ-2538-ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำบางกรณี-7250.html