กฎกระทรวง
ฉบับที่ 381 (พ.ศ. 2565)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในข้อ 6 จัตวา แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 367 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 6 จัตวา การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ดังนี้
(1) เจ้าหนี้อื่นที่เป็นบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินตาม (7) (8) หรือ (9) ของบทนิยามค าว่า “บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน” ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569
(2) เจ้าหนี้อื่นนอกจาก (1) ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(1) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(2) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
(4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
“เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า
(1) เจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน
(2) เจ้าหนี้อื่นนอกจาก (1) ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน
“บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน” หมายความว่า บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและประกอบธุรกิจ ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย
(2) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย
(3) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย
(4) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย
(5) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(6) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(7) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
(8) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
(9) บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินอื่นที่เข้าร่วมและดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย
“บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน” หมายความว่า บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
“ลูกหนี้” ให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย”
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จำนวนมาก จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถที่จะประกอบกิจการและชำระหนี้ได้ตามปกติเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง สมควรกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่น สำหรับส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
Article Number: 7555
Author: Tue, Sep 5, 2023
Last Updated: Tue, Sep 5, 2023
Online URL: https://www.paseetax.com/article/กฎกระทรวง-ฉบับที่-381-40;พ-ศ-2565-41;-ออกตามความในประมวลรัษฎากร-ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้-7555.html