พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629)
พ.ศ. 2560
___________
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรบางประเภท
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 และมาตรา 45 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 และมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 7 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 60 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 134) พ.ศ. 2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 8 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังต่อไปนี้
(1) การเก็บค่าต๋งหรือค่าเกมจากการพนัน การแข่งขันหรือการเล่นต่าง ๆ ร้อยละ 60
(2) การถ่าย ล้าง อัด หรือขยายรูป ภาพยนตร์ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
(3) การทำกิจการคานเรือ อู่เรือ หรือซ่อมเรือที่มิใช่ซ่อมเครื่องจักร เครื่องกล ร้อยละ 60
(4) การทำรองเท้า และเครื่องหนังแท้หรือหนังเทียม รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
(5) การตัด เย็บ ถัก ปักเสื้อผ้าหรือสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
(6) การทำ ตกแต่ง หรือซ่อมแซมเครื่องเรือน รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ร้อยละ 60
(7) การทำกิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร หรือการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มจำหน่าย ร้อยละ 60
(8) การดัด ตัด แต่งผม หรือตกแต่งร่างกาย ร้อยละ 60
(9) การทำสบู่ แชมพู หรือเครื่องสำอาง ร้อยละ 60
(10) การทำวรรณกรรม ร้อยละ 60
(11) การค้าเครื่องเงิน ทอง นาก เพชร พลอย หรืออัญมณีอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบร้อยละ 60
(12) การทำกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเฉพาะที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน รวมทั้งการรักษาพยาบาลและการจำหน่ายยา ร้อยละ 60
(13) การโม่หรือย่อยหิน ร้อยละ 60
(14) การทำป่าไม้ สวนยาง หรือไม้ยืนต้น ร้อยละ 60
(15) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ ร้อยละ 60
(16) การทำบล็อก และตรา การรับพิมพ์ หรือเย็บสมุด เอกสาร รวมทั้งการขายส่วนประกอบร้อยละ 60
(17) การทำเหมืองแร่ ร้อยละ 60
(18) การทำเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 60
(19) การทำเครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบ เครื่องซีเมนต์ หรือดินเผา ร้อยละ 60
(20) การทำหรือจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ร้อยละ 60
(21) การทำน้ำแข็ง ร้อยละ 60
(22) การทำกาว แป้งเปียกหรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกันและการทำแป้งชนิดต่าง ๆ ที่มิใช่เครื่องสำอาง ร้อยละ 60
(23) การทำลูกโป่ง เครื่องแก้ว เครื่องพลาสติก หรือเครื่องยางสำเร็จรูป ร้อยละ 60
(24) การซักรีด หรือย้อมสี ร้อยละ 60
(25) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต ร้อยละ 60
(26) รางวัลที่เจ้าของม้าได้จากการส่งม้าเข้าแข่ง ร้อยละ 60
(27) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากหรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝากร้อยละ 60
(28) การรมยาง การทำยางแผ่น หรือยางอย่างอื่นที่มิใช่ยางสำเร็จรูป ร้อยละ 60
(29) การฟอกหนัง ร้อยละ 60
(30) การทำน้ำตาล หรือน้ำเหลืองของน้ำตาล ร้อยละ 60
(31) การจับสัตว์น้ำ ร้อยละ 60
(32) การทำกิจการโรงเลื่อย ร้อยละ 60
(33) การกลั่นหรือหีบน้ำมัน ร้อยละ 60
(34) การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ร้อยละ 60
(35) การทำกิจการโรงสีข้าว ร้อยละ 60
(36) การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ ร้อยละ 60
(37) การอบหรือบ่มใบยาสูบ ร้อยละ 60
(38) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ร้อยละ 60
(39) การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ ร้อยละ 60
(40) การทำนาเกลือ ร้อยละ 60
(41) การขายเรือกำปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ ร้อยละ 60
(42) การขายที่ดินเงินผ่อนหรือการให้เช่าซื้อที่ดิน ร้อยละ 60
(43) การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ
(ก) สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60
(ข) สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40
การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท”
มาตรา 5 บทบัญญัติมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
______________________________________________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ประกอบกับเพื่อเป็นการสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร อันเป็นผลทำให้ผู้มีเงินได้ต้องจัดทำบัญชีประกอบการหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่อแสดงผลประกอบการที่แท้จริง สมควรปรับปรุงอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 134 ตอนที่ 12 ก วันที่ 27 มกราคม 2560)
Article Number: 7582
Author: Thu, Dec 7, 2023
Last Updated: Thu, Dec 7, 2023
Online URL: https://www.paseetax.com/article/พระราชกฤษฎีกาฯ-40;ฉบับที่-629-41;-กำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน-7582.html