พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 726)
พ.ศ. 2564
-----------------------
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 726) พ.ศ. 2564”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้
“ผู้พ้นโทษ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเนื่องจากครบกำหนดโทษตามหมายศาล ลดวันต้องโทษจำคุกหรือพักการลงโทษ
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้พ้นโทษซึ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว เข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
มาตรา 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษตามมาตรา 4 ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานบุคคลดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรอีก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
มาตรา 7 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 704) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 แต่โดยที่ยังมีความจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(เล่ม 138 ตอนที่ 73 ก ราชกิจจานุเบกษา 8 พฤศจิกายน 2564)
Article Number: 7679
Author: Mon, Jan 22, 2024
Last Updated: Mon, Jan 22, 2024
Online URL: https://www.paseetax.com/article/พระราชกฤษฎีกาฯ-40;ฉบับที่-726-41;-พ-ศ-2564-การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล-กรณีการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ-7679.html