พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 737)
พ.ศ. 2564
----------------------
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ในบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 737) พ.ศ. 2564”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้
“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
“เครื่องจักร” หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับใช้ก่อกำเนิดพลังงานเปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับรายจ่ายที่ได้บริจาคเป็นทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษาที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และต้องเป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และเครื่องมือ เพื่อระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรเพื่อระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับรายจ่ายที่ได้บริจาคเป็นทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษาเพิ่มขึ้นจากการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4
มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับรายจ่ายที่ได้บริจาคเป็นทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษาเพิ่มขึ้นจากการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 แต่ไม่เกินส่วนต่างระหว่างอัตราส่วนของรายได้และการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5
อัตราส่วนของรายได้ตามวรรคหนึ่งให้ถือเอาอัตราส่วนของรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริจาคตามลำดับต่อไปนี้
(1) ร้อยละหกสิบ ของรายได้เฉพาะส่วนของรายได้ที่ไม่เกินห้าสิบล้านบาท
(2) ร้อยละเก้า ของรายได้เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกินห้าสิบล้านบาทแต่ไม่เกินสองร้อยล้านบาท
(3) ร้อยละหก ของรายได้เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกินสองร้อยล้านบาท
มาตรา 7 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวนดังต่อไปนี้ แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า
(1) กำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนหนึ่งเท่าหรือสองเท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริจาค หรือ
(2) หนึ่งร้อยล้านบาท
มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า อันเนื่องมาจากการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 9 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิในการยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ไม่นำรายจ่ายที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับอื่น หรือสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่บริจาคไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 699) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีกลไกสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพและเตรียมกาลังคนสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 สมควรยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในกรณีดังกล่าวต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(เล่ม 138 ตอนที่ 82 ก ราชกิจจานุเบกษา 5 ธันวาคม 2564)
Article Number: 7690
Author: Thu, Jan 25, 2024
Last Updated: Thu, Jan 25, 2024
Online URL: https://www.paseetax.com/article/พระราชกฤษฎีกาฯ-40;ฉบับที่-737-41;-พ-ศ-2564-การยกเว้นรัษฎากร-ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม-4-0-7690.html